"สมคิด" เตรียมเสนอกองทุนฟื้นฟู SMEs-กองทุนพี่ช่วยน้อง เข้าครม.สัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 21, 2016 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้มอบนโยบายการดำเนินงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า (26 ก.ค.) กระทรวงการคลังเตรียมเสนอกองทุนฟื้นฟู SMEs วงเงิน 2,000 ล้านบาท และกองทุนพี่ช่วยน้อง ซึ่งเป็นกองทุนในลักษณะที่บริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก เช่น ด้านวิจัยและพัฒนา หรือการบริหารจัดการ สามารถนำค่าใช้จ่ายหักภาษีได้ 2 เท่า

ทั้งนี้ หวังให้ทั้ง 2 กองทุนมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SMEs และเพื่อลดข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และด้านธนาคารออมสินก็ได้มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ด้วย

พร้อมกันนี้ นายสมคิด ได้ขอบคุณทั้ง 13 หน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นเจ้าภาพหลักในการช่วยเหลือSMEs ซึ่งการร่วมงานในวันนี้เพื่อมาให้ความหวัง ให้กำลังใจ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยทอดทิ้ง แต่พยายามหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ SMEs อย่างเต็มที่

นายสมคิด ให้ความมั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เดินไปได้ดี แต่จะไม่ตั้งอยู่บนความประมาท โดยเฉพาะครึ่งปีหลังที่ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งล่าสุดก็มีการปรับลดตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลง และแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังพบว่าภาคเกษตร และผู้ประกอบการ SMEs ที่ถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากยังคงมีปัญหาอยู่

ซึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลต้องการสร้างเศรษฐกิจฐานรากบนฐานผู้ประกอบการ เปรียบเสมือนการปลูกป่าที่ต้องมีต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศ แทนที่จะปลูกเพียงไม่กี่ต้นที่เหลือเป็นหญ้าแพรก ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการแบบนั้น เพราะเมื่อประเทศมีผู้ประกอบการจำนวนมาก แสดงว่าเรามีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจำนวนมาก และขณะนี้มี SMEs จำนวน 3 ล้านราย หากสร้าง SMEs มากขึ้นเท่าตัว ก็สร้างธุรกิจได้มากขึ้น การจ้างงานเพิ่มมากขึ้น สร้าง GDP ใหญ่ขึ้น ซึ่งหากเทียบกับประเทศที่มีบริษัทใหญ่ไม่กี่แห่ง ประเทศแบบนั้นไม่มีทางไปรอด และสิ่งสำคัญคือการสร้างผู้ประกอบการที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

สำหรับการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ Startup นั้น นายสมคิด ระบุว่า ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และจากธนาคารทั้งธนาคารภายใต้การกำกับของรัฐและธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารออมสินที่จะต้องเป็นธนาคารประชาชน ต้องมีหน้าที่สร้างผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ด้วย ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะต้องเร่งสร้างผู้ประกอบการในเชิงการเกษตรให้มากขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สถาบันการเงินจะต้องเป็นตัวหลักในการเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มักไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะมีความเสี่ยงสูง แต่ในขณะนี้ได้มอบหมายให้ธนาคารภายใต้การกำกับของภาครัฐต้องพยายามช่วยเหลือ SMEs อย่างเต็มที่เพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันต้องประเมินจากศักยภาพของบริษัทนั้นควบคู่กันไปด้วย

"ถ้าต้องการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ธุรกิจเหล่านั้นย่อมมีความเสี่ยง ถ้าคุณต้องการปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีความเสี่ยง คุณก็ไปเป็นโรงรับจำนำดีกว่า เอาทรัพย์สินจำนองไป คุณอย่าทำ Bank เลย ถ้าเราจะสร้างเขาขึ้นมา เราต้องคิดว่าเราจะช่วยอะไรเขาบ้าง ถ้าจะช่วยเขาจริงในฐานะ Banker เราต้องคิดทั้งวันทั้งคืนว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร เพราะถ้ายิ่งช่วยเขาได้มากเท่าไร คุณยิ่งช่วยประเทศชาติได้มากขึ้นเท่านั้น" นายสมคิด กล่าว

ท้ายสุด นายสมคิด ได้ฝากให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกแบบและปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และก้าวสู่ SMEs แบบ 4.0 ต่อยอดสามารถส่ง SMEs ไปในระดับโลกได้ ซึ่งรัฐบาลต้องการเห็นการดำเนินงานแบบครบวงจร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ