(เพิ่มเติม) สศค.เผย Q2/59 ส่งออกพลิกมาติดลบ -4.1% แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังโต 3.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 28, 2016 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าในไตรมาส 2/59 กลับมาหดตัวอยู่ที่ -4.1% ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.9% ต่อปี เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นไปอย่างเปราะบาง และมีความไม่แน่นอนสูง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศยังขยายตัวได้ 3.3% ดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่เติบโต 3.2%

สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ อาหารทะเลกระป๋องฯ และการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ตลาดที่ยังส่งออกได้ดีได้แก่ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และทวีปออสเตรเลีย เป็นสำคัญ

"เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 สะท้อนสัญญาณดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการภาครัฐและการใช้จ่ายรัฐบาลที่เร่งขึ้น แม้ว่าอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าหดตัวลง สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นเช่นกันจากภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกและภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง" นายกฤษฎา กล่าว

สศค.ระบุว่า ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/59 การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศและการนำเข้าที่ขยายตัว 5.4% และ 1.0% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัว 3.4% ต่อปี

สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.9% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และในเขตภูมิภาค เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่กลับมาขยายตัว 2.2% ต่อปี

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ระดับ 61.1 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการสถานการณ์การส่งออกของไทย

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมยังทรงตัว โดยการลงทุนในหมวดก่อสร้าง แม้ว่าภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 11.5% ต่อปี แต่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศยังหดตัว -1.6% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวอยู่ที่ -11.6% ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ -5.1% ต่อปี

สถานการณ์ด้านการคลัง (ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2559) ยังสะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 677.8 พันล้านบาท ขยายตัว 19.0% ต่อปี ขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 638.8 พันล้านบาท ขยายตัว 20.7% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้ 101.5 พันล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 31.7% ต่อปี

สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 715.1 พันล้านบาท ขยายตัว 9.6% ต่อปี ขณะที่ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 69.3 พันล้านบาท

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกและภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -0.9% ต่อปี โดยการขยายตัวมาจากการผลิตในหมวดยานยนต์ที่มีการผลิตเพื่อตอบสนองการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น และหมวดเครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 7.55 ล้านคน ขยายตัว 8.2% ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ดีจาก จีน กลุ่มประเทศ CLMV เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง รัสเซีย และสหรัฐเมริกา เป็นหลัก ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวลดลงมาอยู่ที่ -1.2% ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -5.7% ต่อปี โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญเป็นหลักโดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกและปาล์มน้ำมัน ตามปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยชนิดอื่นแทน

เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.3% และ 0.8% ต่อปี ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน พ.ค.59 อยู่ที่ 43.4% ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60.0%

เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกสะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 2/59 อยู่ที่ 178.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.4 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ