พาณิชย์ เผยยอดจดทะเบียนตั้งบ.ใหม่ก.ค.หด 9% เหตุติดวันหยุด แต่ทั้งปีคาดโตตามเป้าจากมาตรการภาษีนิติบุคคลหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 19, 2016 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยสถิติการจดทะเบียนธุรกิจเดือน ก.ค.59 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ 4,919 ราย ลดลง 9% เทียบกับเดือนก.ค.58 และลดลง 17% เทียบกับเดือนมิ.ย.59 โดยมีทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มูลค่า 15,425 ล้านบาท ขณะที่การจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.59) มีจำนวนทั้งสิ้น 36,711 ราย ลดลง 0.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา สาเหตุที่การจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนก.ค.59 ลดลง เป็นเพราะมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทำให้เหลือวันทำการเพียง 18 วัน

ขณะที่การจดทะเบียนนิติบุคคลเลิกในเดือนก.ค.59 มีจำนวน 1,405 ราย ลดลง 9% เทียบกับเดือนก.ค.58 แต่เพิ่มขึ้น 1% เทียบกับเดือนมิ.ย.59 โดยทุนจดทะเบียนเลิก 15,031 ล้านบาท ธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด คือ ธุรกิจค้าสลาก 158 ราย ส่วนใหญ่เลิกเนื่องจากธุรกิจไม่ได้ประกอบกิจการ ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มี 8,239 ราย ลดลง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่า ช่วง 5 เดือนหลังของปีนี้ (ส.ค.-ธ.ค.59) จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลปี 59 น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่าปี 58 หรือได้ตามเป้าหมายที่ 60,000-65,000 ราย เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ยกเว้นภาษีจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่เป็นบุคคลธรรมดาให้มาจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐออกมาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ท อัพ) และกลุ่มที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาตรการภาษีพี่ช่วยน้อง เป็นต้น รวมถึงโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ถอนร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งนิติบุคคลโดยคนเดียว พ.ศ... ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการกลับไปดูรายละเอียดร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นการถอยที่จะไม่ยกร่างกฎหมายฉบับนี้แน่นอน เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนนิติบุคคลเดียวที่จะมีส่วนสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ตั้งบริษัทได้ง่ายขึ้น และยังยืนยันว่าจะไม่ปรับแก้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แน่นอน เพราะถ้าปรับแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะต้องแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก ดังนั้นการยกร่างเป็น พ.ร.บ.จัดตั้งนิติบุคคลโดยคนเดียว พ.ศ...จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ