(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ระบุเงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าภูมิภาคแต่แนวโน้มยังผันผวนต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 23, 2016 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ยังเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับภูมิภาค และอัตราการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4% นั้นยังถือว่าแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการไหลเข้ามาของเงินทุนจากต่างประเทศ และบางช่วงอาจได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติม คือ ผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 2/59 ของไทยที่ออกมาดี

"ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่าลง และทำให้มีเงินที่ไหลเข้าไปในประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น กรณีของเราช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้รับปัจจัยบวกด้วย ทั้งผลการลงประชามติ ขณะเดียวกันตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ก็ออกมาดีกว่าคาด จึงทำให้มีเงินไหลเข้ามาบ้าง" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเงินจะยังมีความผันผวนรุนแรงต่อไปจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ในบางจังหวะอาจเข้ามาในช่วงสั้นๆ ค่อนข้างแรง เช่น ช่วงที่มีข่าวดีเป็นปัจจัยหนุน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะต้องป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ ธปท.ก็จะติดตามพัฒนาการค่าเงินบาทและเงินทุนไหลเข้าอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติของเงินทุนไหลเข้า เป็นเพียงการเข้ามาลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเม็ดเงินที่ไหลเข้ามายังเป็นการเข้ามาลงทุนตามปกติในตลาดพันธบัตรรัฐบาล

ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ได้มองเห็นการปรับตัวของนักธุรกิจและผู้ส่งออกจากภาวะความผันผวนของค่าเงินได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถรองรับความผันผวนได้ดีขึ้น และหันมาใช้วิธีบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันการเงินต่างต้องการให้ลูกค้าปิดความเสี่ยงในส่วนนี้

"ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องค่าเงินที่ผันผวนจะอยู่กับเราต่อไป และอาจจะมีแนวโน้มที่ผันผวนรุนแรงมากขึ้นด้วย และความผันผวนที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่เป็นจากการเปลี่ยนแปลงของเงินสกุลหลักหลายๆ สกุล ดังนั้นต้องลงไปให้ลึกกับการบริหารความเสี่ยงในแต่ละสกุลเงิน" นายวิรไท กล่าว

พร้อมแนะนำว่า การบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนควรเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจระหว่างประเทศในขณะนี้ เพราะค่าเงินยังมีโอกาสผันผวนได้อีกมาก และการผันผวนของค่าเงินส่วนใหญ่มักจะมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ