(เพิ่มเติม1) สภาผู้ส่งออกเรียกร้อง ธปท.พยุงค่าเงินบาทไว้ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์ ห่วงส่งออกทรุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 30, 2016 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการมาตรการเพื่อพยุงค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นปัจจัยหลักอีกประการต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งออกของหลายประเทศรวมถึงไทย

โดยในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกของญี่ปุ่นหดตัวถึง -14% เนื่องจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกว่า 15.04% นับตั้งแต่เดือนม.ค.59 ที่ผ่านมา ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 4.41% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ค่าเงินด่องของเวียดนามอยู่ในภาวะทรงตัว และคู่แข่งสำคัญอื่นๆ อยู่ในภาวะแข็งค่าน้อยกว่าเงินบาท ดังนั้น หากประเทศไทยไม่มีการควบคุมให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสม จะส่งผลให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นเดียวกัน

"การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางอัตราแลกเลี่ยน อาจไม่สามารถช่วยให้การส่งออกของไทยพลิกกลับมาได้มากนักในปีนี้" นายนพพร กล่าว

พร้อมระบุว่า การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มดีดตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหลายรายการยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวสาลี น้ำตาล ไก่ เป็นต้น ขณะที่ราคาสินค้ากุ้งยังคงทิศทางทรงตัว โดยในส่วนของสินค้าที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย ปลา ฝ้าย ยางพารา และเหล็ก เป็นต้น

นอกจากนี้ สถานการณ์การส่งออกของไทยมีปัจจัยใหม่ที่เข้ามากระทบ คือ การที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา และโรคเมอร์ส ส่งผลให้ประเทศจีนกำหนดให้สินค้าจากไทยที่ขนส่งเข้าไปในจีนต้องมีการปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีแมลงซึ่งเป็นพาหะของโรคติดไปกับตู้บรรจุสินค้า และกลายเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มของผู้ส่งออกไทยในการขายสินค้าไปยังประเทศจีน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาการก่อการร้าย, ปัญหาภัยธรรมชาติ, ปัญหาโรคอุบัติใหม่, ผลกระทบจาก Brexit

นายนพพร กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว และขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งหากจะให้การส่งออกในปีนี้ไม่ติดลบ หรืออยู่ที่ 0% จะต้องทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 18,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย สรท.ยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 59 ไว้เท่าเดิมที่ -2%

"ครึ่งหลังของปี ต้องโตให้ได้ 2% การส่งออกปี นี้ถึงจะอยู่ที่ 0% ช่วงเวลาที่เหลือต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 18,400 ล้านดอลล์ ซึ่งโอกาสน่าจะยาก ปีนี้ปราบเซียนจริง" นายนพพร กล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่กล้าตัดสินใจดำเนินมาตรการใดๆ เพื่อแก้วิกฤตการณ์ทางการเงินของโลก แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกมาจากนโยบายทางการเงินที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ไม่ใช่การขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริง

"ช่วงนี้ส่งผลทางจิตวิทยาให้คนมีเงินเก็บเงินไว้ ไม่ยอมเอาออกมาใช้" นายนพพร กล่าว

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ระบุว่า สำหรับเงินบาทนั้นนับแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าขึ้นประมาณ 4.41% ขณะที่ค่าเงินด่องของเวียดนามอยู่ในภาวะทรงตัว ดังนั้น สรท.ขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับ 34.50บาท/ดอลลาร์

"เราคงต้องเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรง ถ้าเราไม่มียุทธศาสตร์การส่งออกที่ดี การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ก็จะทำให้การส่งออกแข่งขันได้ลำบาก" นายคงฤทธิ์ กล่าว

ขณะที่ปัจจัยที่ช่วยพยุงภาวะการส่งออกของไทยไม่ให้ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้ คือ การส่งออกทองคำ ขณะที่การส่งออกสินค้าอื่นปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหาเงินบาทแข็งค่า ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ต้องดูว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกฯ กล่าวว่า ผู้ส่งออกไม่ค่อยพอใจต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ที่มีความผันผวนสูงและแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนระยะสั้นๆ ในตลาดหุ้นหลังผลประชามติ Brexit ขณะที่ภาวะราคาสินค้าส่งออกเกือบทุกรายการมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ หากสถานการณ์การส่งออกในเดือน ส.ค.59 ไม่สามารถทำยอดให้มีมูลค่าได้ถึง 17,769 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้คงติดลบมากกว่า -2% ซึ่งทาง สรท.คงจะมีการประเมินเพื่อปรับคาดการณ์ส่งออกปี 59 ใหม่อีกครั้ง

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน ภาครัฐพยายามเพิ่มสิทธิประโยชน์มากมายเพื่อจูงใจ แต่สิ่งสำคัญที่นักลงทุนดูน่าจะเป็นเรื่องตลาด เพราะคงไม่หวังทำขายในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ใช้กำลังผลิตไปเพียง 60-62% เท่านั้น นอกจากนี้สิ่งที่จูงใจให้เกิดการลงทุนระยะยาว คือต้องมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์บ้านเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ