เสวนามิติใหม่ของ ศก.ไทยยุคแห่งข้อมูลก้าวสู่ cognitive area ดึงประโยชน์พัฒนาบริการ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 16, 2016 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยในงานเสวนา "มิติใหม่ของเศรษฐกิจไทยในยุคแห่งข้อมูล"ว่า มนุษย์เริ่มรู้จักคำว่า New Economy ตั้งปี 1980 จาก Time magazine ซึ่งเป็นการพูดถึงเทคโนโลยีของการปรับผ่านจาก Heavy Industry เข้าสู่ Base Industry ซึ่งเป็นยุคกำเนิดของเทคโนโลยีระบบปฎิบัติการ PC จากนั้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของอินเตอร์เน็ต หรือยุค .com จะเห็นได้ว่าแต่ละยุคจะมีเทคโนโลยีเป็นตัวเปลี่ยนผ่าน ขับเคลื่อนการคิดใหม่ทำใหม่ของการทำธุรกิจเสมอ

ปัจจุบันก็เช่นเดียวกันเทคโนโลยีมีการพัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกขั้น ในรูปแบบของเทคโนโลยีที่มีความหลากหลาย เช่น 3D Printing, Mobile, Internet of Things (IOT), BIG DATA, Robot, IBM Watson และ Cloud เป็นต้น ขณะที่จากการพัฒนาของเทคโนโลยีก็เริ่มเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีไอเดีย อย่าง Start up ซึ่งทำให้เกิด Innovation ใหม่ๆ หรือปรากฎการณ์ Uberization ทำให้เกิดการนำ Business Model ดังกล่าวมาใช้ใน Airbnb หรือ Fintech อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็กำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 ของคอมพิวเตอร์ หรือเรียกว่ายุค cognitive area ซึ่งคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจความต้องการของมนุษย์มากขึ้น และยังเข้าใจภาษามนุษย์ได้อีกด้วย เช่น ระบบ IBM Watson ได้ถูกพัฒนามาช่วยวางแผนการรักษาในทางการแพทย์ และขยายเข้าไปสู่ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ถูกพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ ในการรับรองลูกค้าในโรงแรม, การช่วยทนายความในการวิเคราะห์คดีความ และการทำยอดขายของสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (IDC) มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2018 หรือปี พ.ศ.2561 ประชากรโลก 50% จะได้รับการบริการจาก cognitive system

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า คำว่า Cognitive ถูกนำมาใช้ใน Big Data Digital Technology ซึ่งทำให้เกิด Innovation ต่างๆ มากมาย ขณะที่หลังจากผ่านยุค Internet มาแล้ว ก็เข้าสู่ยุค Hyper connectivity จากนั้นมองว่าโลกจะเข้าสู่ความเป็นจริงมากขึ้น คือ โลกของ Realtime

สำหรับคลื่นลูกใหม่ที่ก้าวเข้ามาเป็นยุคของเทคโนโลยีที่เอื้อต่อความสะดวกสบายมากขึ้น ด้วยคำว่า Smart เช่น Smart Watch, Smart Freeze และ Smart Phone ส่วนในแง่ของธุรกิจก็เกิดการสร้าง Value เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลของลูกค้า จากการใช้ Big Data ที่จะสามารถเข้าถึงการเป็นตัวตนของคน ผ่านการใช้บริการ

ในปี 59 จะเห็นได้ว่าการใช้ Data เริ่มมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ดูจากปริมาณโฆษณาที่เริ่มเข้าไปอยู่บน Facebook, youtube อย่างรวดเร็ว ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็มีการสร้าง Value ผ่านการทำตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น (Marketing & Customer Engagement), Risk Management & Decisioning และการบริหารผลการดำเนินงาน อีกทั้งปัจจุบันธนาคารก็มีแอพลิเคชั่น K-Mobile Banking ที่สามารถเพิ่มความสะดวกแก่ลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงิน และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถเข้าถึงพฤติกรรมของลูกค้าได้อีกด้วย

ประกอบกับธนาคารอยู่ระหว่างการของอนุมัติจากคณะกรรมการ และจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการจัดตั้งกองทุนร่วมทุน (VC) โดยจะเป็นการลงทุนโดยตรง ซึ่งจะเน้นลงทุนในประเทศไทย และลงทุนผ่านกองทุน และจะลงทุนในซานฟรานซิสโก และประเทศสิงคโปร์ เฉพาะใน SINTECH ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนดังกล่าวได้ต้นไตรมาส 4/59 โดยการลงทุนแต่ละกองขึ้นอยู่กับข้อตกลงทุนพันธมิตร ซึ่งเบื้องต้นการลงทุน Limited Partner (LP) จะใช้เงินลงทุน 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า BIG DATA สามารถเข้าใจโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจที่สามารถพยากรณ์สถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างทันที หรือสามารถหาคำตอบได้อย่างรวดเร็ว จากการเก็บข้อมูลแบบ Realtime เช่น พฤติกรรมของมนุษย์, การลงทุน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ประชากรในประเทศไทยมีโทรศัพท์มือถือเฉลี่ย 6,000 ล้านเครื่องของประชากรทั้งหมด และ 90% ของประชากรโลก สามารถเข้าถึง DATA ราว 50% ต่อปี จะเห็นได้จาก Youtube มีผู้เข้าชมถึง 6 พันล้านชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของโลก

ขณะที่คำว่ามิติใหม่ของเศรษฐกิจไทยในยุคแห่งข้อมูล คือ การให้ข้อมูลที่เปิดเผย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาปราบคำว่า คอรัปชั่นที่เป็นสิ่งที่บั่นทอนศีลธรรมของสังคมไทย โดย Open Data จะส่งผลให้การคอรัปชั่นหมดไปอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญอย่างมากที่จะนำเข้าไปใช้กับหน่วยงานภาครัฐ ในการเปิดเผยข้อมูลให้แก่ประชาชนสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ รวมถึงการดำเนินงานของภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันก็มีการดำเนินการ แต่ยังมีไม่เพียงพอ โดยขณะนี้ประเทศไทยมี Data set ทั้งหมด 812 Data set จากหน่วยงานทั้งหมดของภาครัฐที่เปิดเผยข้อมูลและเข้าถึงได้

โดยหลักการสากลของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ควรมีเรื่องของการให้ข้อมูลที่สมบูรณ์, เป็นข้อมูลที่ให้สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลดิบ, ตรงต่อเวลา, ให้ข้อมูลเข้าถึงได้พร้อมกัน, ไม่มีใครเป็นเจ้าของ, ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปราบปรามคอรัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย หรือ อันดับ Oper Data Index Ranking จากอดีตอยู่ในอันดับ 100 กว่า แต่ปัจจุบันก็มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยอันดับ 1 คือ ประเทศสิงคโปร์ และญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ