รมว.พาณิชย์สั่งติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรแต่ละพื้นที่ใกล้ชิด หวั่นน้ำท่วมซ้ำเติมเกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 29, 2016 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์มันสำปะหลังอย่างใกล้ชิด รวมทั้งตรวจสอบการซื้อ-ขายหัวมันสด ณ โรงแป้งและลานมันทุกแห่งให้มีการปิดป้ายแสดงราคารับซื้ออย่างชัดเจนให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) อย่างเคร่งครัด และตรวจสอบเครื่องชั่ง เครื่องวัดเปอร์เซนต์เชื้อแป้งไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทางการค้า

โดยพาณิชย์จังหวัด ได้ออกติดตามสถานการณ์การรับซื้อมันสำปะหลังของจังหวัด อาทิ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปริมาณการรับซื้อหัวมันสดของโรงแป้งทั้ง 8 แห่งยังเต็มกำลังการผลิตเฉลี่ยวันละประมาณ 6,500-7,000 ตัน โดยมันที่เข้าสู่โรงแป้งในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นมันในจังหวัดประมาณ 70% อีกประมาณ 30% เป็นมันจากจังหวัดใกล้เคียง (อุดรธานี สกลนคร และมุกดาหาร) ราคารับซื้อเฉลี่ย หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 1.25-1.45 บาท (เพิ่ม-ลด% ละ 0.05 บาท) เชื้อแป้งโดยเฉลี่ยในขณะนี้ 23-26%

สำหรับสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงให้พาณิชย์จังหวัดจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังจากที่กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้รับซื้อเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตข้าวโพดภายในประเทศยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการผลิต 5.6-6 ล้านตันต่อปี ในสัดส่วนการใช้ข้าวโพดในอาหารสัตว์ประมาณ 60-65% แต่ผลผลิตข้าวโพดในประเทศมีเพียง 4.5 ล้านตันต่อปี ที่เหลือยังต้องนำเข้า

นางอภิรดี กล่าวต่อว่า มีความกังวลต่อสถานการณ์สินค้าเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งจากรายงานของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สถานการณ์น้ำหลากท่วมในครั้งนี้ กระทบต่อพื้นที่เกษตรในวงแคบๆ เฉพาะในที่ลุ่มริมน้ำ และท่วมในระยะสั้น จึงคาดว่าพื้นที่เกษตรสามารถฟื้นตัวได้หลังน้ำลด ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่น้ำท่วม และพื้นที่เฝ้าระวัง ได้ออกตรวจสอบสถานการณ์ทางการค้าและสำรวจความเสียหายของพื้นที่ทางการเกษตรอย่างใกล้ชิด

โดยติดตามสถานการณ์สินค้าจำเป็นต่อการครองชีพในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ดูแลมิให้เกิดการกักตุน ไม่ให้มีการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า ทั้งในช่วงที่เกิดอุทกภัยและหลังเกิดอุทกภัย จัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ประสบภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ