"อนุสรณ์"แนะทำยุทธศาสตร์รองรับรถยนต์ไฟฟ้าให้ชัดเจน หวั่นกระทบความเป็นศูนย์กลางผลิตรถเพื่อส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 2, 2016 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แนะรัฐเตรียมรับมือกับกับดักปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบสถาบันต่าง ๆ และการเมือง และผลกระทบจากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ โดยเฉพาะผลกระทบของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงาน หวั่นสูญเสียความเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกหากไม่มียุทธศาสตร์ต่อยานยนต์เทคโนโลยีอุบัติใหม่

แม้การทดแทนรถยนต์เครื่องยนต์แบบเดิมด้วยรถยนต์ไฟฟ้า จะเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมาก ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ลดมลพิษทางอากาศ ลดปัญหาภาวะโลกร้อน คุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนดีขึ้น ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจและแรงงานดีขึ้น เกิดโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานใหม่ ๆ และช่วยลดการนำเข้าพลังงาน ในเบื้องต้นประเมินว่า เกิดผลประโยชน์ทางมูลค่าเศรษฐศาสตร์ระหว่าง 10,000 ล้านบาท ถึง 60,000 ล้านบาท ขณะที่งานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)จัดทำโดย ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พบว่า อาจเกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงถึง 67,437 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ในไทยหากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยมาตรการพิเศษจากภาครัฐ

"ขณะนี้ยังไม่มีทางออกหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหากับดักเชิงโครงสร้างอย่างไรในระยะยาว ซึ่งปัญหาหลายประการจะทยอยปะทุขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าช่วงหนึ่งและ 10-20 ปีข้างหน้าอีกช่วงหนึ่ง โดยที่ระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ในมิติด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในหลายธุรกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น หากไม่มีการปรับเปลี่ยนปัจจัยที่กำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนทางด้านนวัตกรรม การลงทุนทางด้านการศึกษาและวิจัย ขณะที่ไทยมียอดการเกินดุลการค้าสูงมาก สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นช้ามาก เอกชนไม่กล้าลงทุน ไม่สั่งนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ ไม่สั่งนำเข้าเครื่องจักร"นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลและภาคเอกชนขาดการเตรียมความพร้อมต่อพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่จะให้ประเทศไทย เป็น Detroit of Asia จะเป็นไปไม่ได้ และ ประเทศไทยจะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกหากไม่มียุทธศาสตร์ต่อยานยนต์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นที่ 9 ของโลก โดยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน โดยเป็นการส่งออก 1.2 ล้านคันและใช้ในประเทศ 8 แสนคัน

ท้งนี้ นักอนาคตศาสตร์ Tony Seba มองว่ารถยนต์แบบที่ไทยผลิตอยู่นั้นอาจขายไม่ได้เลย ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า แต่ในส่วนตัวมองว่าอาจนานกว่านั้นเล็กน้อยประมาณ 5-10 ปี ตลาดหุ้นของไทยนั้นมากกว่า 1/3 ประกอบด้วยมูลค่าหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน การกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี รวมทั้ง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าหุ้นของธุรกิจอาจได้รับผลกระทบหากอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และพลังงานไม่ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่และจะมีผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้นโดยรวมด้วย

"เห็นด้วยกับรัฐบาลในการเปิดเสรีรถยนต์ไฟฟ้าและการส่งเสริมให้มีการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแต่ขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการป้องกันผลกระทบทางลบด้วยโดยเฉพาะต่อการจ้างงานในประเทศ"นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ในไทยหากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยมาตรการพิเศษจากภาครัฐ เนื่องจากราคาไฟฟ้าต้องถูกกว่าราคาน้ำมันมาก ๆ เนื่องจากแบตเตอรี่ยังมีอายุการใช้งานเพียง 8 ปี จะทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดมือสองตกลงอย่างมาก ฉะนั้นปัจจัยที่กำหนดการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับ ราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า ความยาวนานของอายุการใช้งานและสมรรถนะการจุพลังงานของแบตเตอรี่หรือประสิทธิภาพของแบตเตอรี่

โดยได้เสนอให้รัฐบาล ได้แก่ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบทางบวกทางลบของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม อุตสาหกรรมรถยนต์และธุรกิจต่อเนื่อง ,การดำเนินนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ควรดำเนินควบคู่กับนโยบายจากการส่งเสริมรถยนต์อีโคคาร์และรถยนต์ประหยัดพลังงานซึ่งได้ดำเนินการก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้เอกชนที่ได้ดำเนินการลงทุนกับโครงการของรัฐไปแล้วได้รับผลกระทบ ,รัฐต้องมีหน่วยงานในการกำกับมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าและมาตรฐานอื่น ๆที่ เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ ,ต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพที่มีความเกี่ยวพันกับภาคเกษตรกรรม เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ