สรรพากร จัดทีมล่อซื้อเจ้าของธุรกิจออนไลน์ รีดภาษีเพจดัง-เน็ตไอดอล เล็งแก้กม.ให้ทันยุคภถ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2016 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงแนวทางการเรียกเก็บภาษีจากผู้ค้าขายบนโลกออนไลน์ บล็อกเกอร์ที่รับจ้าง Review สินค้า เว็บไซต์ที่มีโฆษณาแฝง รวมทั้งบรรดาเน็ตไอดอลทั้งหลาย ว่า ต้องแยกเป็นหลายส่วน ส่วนแรกคือที่ซื้อขายมีการทำธุรกรรมอยู่ในประเทศไทย ซึ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีอยู่ในประเทศไทยมาหลายปีแล้วส่งผลให้มีร้านค้าออนไลน์ประเภทนี้จำนวนมาก

"เราคอยตามดูอยู่ แม้ว่าวิธีการนี้จะเหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน โดยเฉพาะผู้ค้าออนไลน์ที่เป็นตัวบุคคลใช้พื้นที่หน้าเฟซบุค ขายผ่านไลน์ ซึ่งเรากำลังดูว่าคนเหล่านี้ต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งรูปแบบการเสียภาษี 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ายอดขายถึง 1,800,000 บาทต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าไม่ถึง 1,800,000 บาทก็ยังไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะจัดทีมไว้สแกนหาเว็บไซต์หรือบล็อกเกอร์ที่ได้รับความนิยม และมียอดขายโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าเขาขายได้ 1 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ หักค่าใช้จ่ายเหลืออยู่ 2 แสนบาท ห้าหมื่นบาทแรกไม่ต้องเสียภาษี โดยเราจะเก็บข้อมูลเข้าระบบตลอดเวลาและจะทำการล่อซื้อให้มีหลักฐานทางการเงินเหมือนกระทรวงพาณิชย์"อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวผ่านรายการทางสถานีโทรทัศน์

ส่วนที่ 2 คือที่มีการขายผ่านเว็บไซต์หรือเฟซบุค แต่เจ้าของบัญชีเฟซบุคอยู่ในต่างประเทศซึ่งกฎหมายไปไม่ถึง แต่มีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะจัดทีมงานอีกทีมที่จัดตั้งขึ้นมา และจะเสนอออกร่างกฎหมายให้ไปครอบคลุมในส่วนดังกล่าว ว่าถึงแม้จะอยู่ต่างประเทศแต่มีการทำธุรกรรมในเมืองไทย

"ยกตัวอย่างกรณีของแจ็ค หม่า เจ้าของเว็บไซต์อาลีบาบาที่เข้ามาล้วงเงินในกระเป๋าคนไทยโดยไม่ต้องเสียภาษี เพราะกฎหมายไปไม่ถึง เพราะอยู่นอกเขตอำนาจประเทศไทย และกฎหมายเราค่อนข้างล้าสมัย ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 กว่า ๆ แต่ขณะนี้กำลังร่างกฎหมายใหม่อยู่"นายประสงค์ กล่าว

ส่วนที่ 3 คือ เน็ตไอดอลที่รับจ้างโปรโมทสินค้าให้ต้องมีการเสียภาษี ซึ่งเราจะตามให้มาเสียภาษีทุกราย โดยจะติดตามจากบริษัทที่ไปซื้อบริการโฆษณาต้องหักภาษีนำส่ง และจากข้อมูลหักภาษีนำส่งจะไปติดตามเรื่องภาษีเงินได้เฉพาะเน็ตไอดอลคนนั้นตอนสิ้นปีอีกที

นายประสงค์ กล่าวต่อว่า บรรดาบล็อกเกอร์ที่รับจ้างเชียร์สินค้า รวมถึงเพจดังๆทั้งหลาย เช่น Drama-Addict หรือ อีเจี๊ยบเลียบด่วน ก็อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเช่นกัน แม้ว่าอาจจะมีการจ่ายค่าจ้างค่าโฆษณาเป็นเงินสด ไม่มีใบเสร็จ แต่สรรพากรก็จะซุ่มดูแล้วล่อซื้อเช่นกัน

"ถ้าจ่ายเงินสด คนที่จ่ายก็จะมีปัญหาทางบัญชีเขาเอง ลงรายรับรายจ่ายไม่ครบเขาก็จะมีปัญหา"นายประสงค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ