(เพิ่มเติม) สศค.เผย ศก.ไทย Q3/59 ได้แรงหนุนบริโภคเอกชน-ลงทุนภาครัฐ,รายได้เกษตรกร-ส่งออกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 28, 2016 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ย.59 และไตรมาส 3/59 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีราว 3.3-3.5% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายจากรายจ่ายลงทุนภาครัฐที่ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลัก นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าในเดือน ก.ย.ยังขยายตัวดีติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ขณะที่ไตรมาส 4/59 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากไม่ค่อยมีปัจจัยที่จะเข้ามาส่งผลกระทบ นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก เช่น โครงการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก, การเร่งใช้งบประมาณในการอบรมสัมมนาของหน่วยงานราชการ, โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ขยายตัวต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปี 60 ขณะเดียวกันก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 59 เติบโตได้ 3.3%

นายกฤษฎา ชี้แจงตัวเลขเศษฐกิจในเดือน ก.ย.59 และไตรมาส 3/59 ว่า การส่งออกเติบโตได้ 1.2% หลังจากเดือน ก.ย.59 ขยายตัวต่อเนื่อง 3.4% โดยเติบโตดีเกือบทุกตลาด พร้อมมองว่าการส่งออกของไทยในขณะนี้ถือว่ายังมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อีกมาก เพราะหากพิจารณาเปรียบเทียบจากตัวเลขของประเทศคู่ค้าแล้ว ไทยเป็นรองแค่เพียงเวียดนามเท่านั้น ปัจจัยที่สนับสนุนมาจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มยานพาหนะและส่วนประกอบ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้ากลุ่มเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อาหาร และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น

ส่วนมูลค่าการนำเข้ากลับมาขยายตัวในระดับสูงถึง 5.6% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/59 หดตัว -1.2% ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก ขยายตัว 3.4% ต่อไตรมาส ทั้งนี้ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ไตรมาสที่ 3/59 ดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุล 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ก.ย.59 กลับมาขยายตัวที่ 3.2% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 5.5% ต่อเดือน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัว 5.2% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/59 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 1.2% ต่อปี

เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ย.59 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ที่ 13.4% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเขตภูมิภาค ตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลงและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ในไตรมาส 3/59 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 14.1% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 2.2% ต่อไตรมาส

สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย.59 ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 13.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 2.2% ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาส 3/59 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ 10.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 1.2% ต่อไตรมาส

ขณะที่ในเดือน ก.ย.59 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 11.3% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/59 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัว 11.0% ต่อปี สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัว -3.7% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 3/59 ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 1.5% ต่อปี

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.4 และเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ทำให้ในไตรมาส 3/59 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 61.1

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมมีสัญญาณทรงตัว โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ 6.1% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 8.6% ต่อเดือน ทำให้ไตรมาส 3/59 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัวเล็กน้อยที่ -0.3% ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 4.2% ต่อไตรมาส

ในไตรมาส 3/59 การใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัวได้ดี พบว่า การเบิกจ่ายงบประมาณรวม 558.7 พันล้านบาท หดตัว -2.0% ต่อปี ขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 528.3 พันล้านบาท ขยายตัว 0.7% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้ 100.1 พันล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 31.0% ต่อปี ทำให้รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 มีอัตราการเบิกจ่าย 92.9% ของกรอบวงเงินงบประมาณ 2,776.0 พันล้านบาท

ด้านการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จำนวน 597.7 พันล้านบาท ขยายตัว 2.4% ต่อปี ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 44.1 พันล้านบาท และทำให้ทั้งปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิฯ ได้ทั้งสิ้น 2,393.5 พันล้านบาท ขยายตัว 8.1% ต่อปี ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -395.8 พันล้านบาท

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย (ข้อมูลเบื้องต้น) ในเดือน ก.ย.59 มีจำนวน 2.41 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ 17.7% ต่อปี และไตรมาส 3/59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 8.23 ล้านคน ขยายตัว 12.8% ต่อปี

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย.59 ขยายตัวที่ 4.0% และไตรมาส 3/59 ชะลอลงที่ -0.5% ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 2.1% ต่อไตรมาส ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ขยายตัว 8.0% ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง และข้าวโพดที่ราคาหดตัวเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ไตรมาส 3/59 ขยายตัว 13.1% ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 84.8 โดยมีปัจจัยหลักจากองค์ประกอบของยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น เป็นสำคัญ

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4% และ 0.8% ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาส 3/59 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.3% และ 0.8% ต่อปี ด้านอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ 0.9% ของแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน ทำให้ไตรมาส 3/59 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวม

นอกจากนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60.0% โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 42.6% ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ 180.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.1 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ