กบง.ปรับเพิ่มคาดการณ์ดีมานด์ก๊าซฯของประเทศ-คาดต้องนำเข้า LNG เพิ่มสูงขึ้นถึง 34 ล้านตัน/ปี ในปี 79

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 23, 2016 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รับทราบการทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงปลายแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 58-79 (PDP2015) โดยคาดว่าในปี 79 ความต้องการใช้ก๊าซฯจะอยู่ที่ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน จากเดิมที่ 4,344 ล้านลบ.ฟ./วัน

ขณะที่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปี 79 จะเพิ่มเป็น 34 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่กว่า 23 ล้านตัน/ปี และได้ปรับเพิ่มเป็น 31.5 ล้านตัน/ปีในช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 65 ความต้องการนำเข้า LNG จะเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมมาอยู่ที่ราว 17.4 ล้านตัน/ปี

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มประมาณการความต้องการใช้ก๊าซฯดังกล่าว สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน PDP2015 โดยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวออกไป ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้การดำเนินการตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP2015) อาจจะไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ อีกทั้งปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยมีแนวโน้มที่จะลดลง เป็นผลจากการผลิตปิโตรเลียมจาก 2 แหล่งใหญ่ที่จะหมดอายุในปี 65-66 อาจจะไม่มีความต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซฯในประเทศจะลดลงต่ำกว่าสมมติฐานเดิมที่ได้มีการจัดทำแผน

“ปัจจัยเสี่ยงของประเทศคือกำลังการผลิตก๊าซฯในประเทศที่จะลดต่ำลงกว่าสมมติฐานในแผน ทำให้มีความจำเป็นต้องเร่ง LNG ให้เร็วขึ้น เพิ่มกำลังการรับ LNG ให้เร็วขึ้น"นายทวารัฐ กล่าว

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า จากกรณีดังกล่าวที่ประชุมกบง.จึงได้เห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหาและนำเข้า LNG โดยให้บมจ.ปตท. (PTT) ขยายการรองรับนำเข้า LNG สำหรับคลัง LNG แห่งที่ 2 เพิ่มเป็น 7.5 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่ 5 ล้านตัน/ปี โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 65

นอกจากนี้ยังให้ปตท.ศึกษารายละเอียดของโครงการคลังก๊าซฯ LNG ลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit:FSRU) ในเมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน/ปี ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค.60 โดยเบื้องต้นจำเป็นต้องเร่งโครงการนี้เร็วขึ้นอย่างน้อย 4 ปีจากแผนเดิมที่จะนำ LNG จากคลังดังกล่าวเข้าระบบในปี 69 ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการร่วมด้านพลังงานระหว่างไทยและเมียนมา ได้เห็นชอบให้ฝ่ายไทยศึกษาแล้วในพื้นที่ที่คัดเลือกแล้วคือ บริเวณ KANBAUK รวมถึงกบง.ยังอนุมัติให้นำโครงการ FSRU ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตัน/ปี เข้าสู่ที่ประชุมของกพช.เพื่อพิจารณาต่อไป โดยตามแผนการนำเข้า LNG ของกฟผ.จะเข้าระบบในปี 67

นายทวารัฐ กล่าวว่า สำหรับการปรับเพิ่มแผนการใช้ก๊าซฯและการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตามแผน PDP2015 อย่างไร จากแผนในปัจจุบันค่าไฟฟ้าช่วงปลายแผน PDP2015 จะอยู่ที่กว่า 5 บาท/หน่วย และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งแผนจะอยู่ที่ 4.50 บาท/หน่วย เนื่องจากตามแผน PDP2015 คำนวณบนเชื้อเพลิงราคาน้ำมันที่ราว 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงราคา LNG ด้วย

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นประเมินว่าค่าไฟฟ้าในปี 60 น่าจะไม่สูงขึ้นจากปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากราคาก๊าซฯที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 59 ลดลงอย่างมาก โดยราคาก๊าซฯจะตามหลังราคาน้ำมันอยู่ราว 6-12 เดือน ขณะที่ค่าไฟฟ้าจะตามหลังราคาก๊าซฯราว 6 เดือน

นอกจากนี้ที่ประชุม กบง.ยังเห็นชอบแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้นพ.ศ.2560-2564 โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป โดยตามแผนขับเคลื่อนสมาร์ทกริดนั้น มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการรวมกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ได้รับการอนุมัติแล้วราว 3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา สนพ. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

โดยแผนดังกล่าวจะมุ่งเน้นการศึกษาวิจัย การสาธิตนำร่อง และการเตรียมการเพื่อการใช้เชิงพาณิชย์ภายในปี 64 รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านสมาร์ทกริดของประเทศ ทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากร โดยาคาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ในด้านการช่วยลดภาระการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภท Peaking Plant 350 เมกะวัตต์ (MW) สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy:RE) เข้าสู่ระบบได้มากขึ้น โดยรองรับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 3.5 กิกะวัตต์ (GW) ณ ปี 64 สอดคล้องตามเป้าหมายของแผน AEDP2015 รวมทั้งเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ห่างไกล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ