พาณิชย์ ยันนโยบายของ"โดนัลด์ ทรัมป์"ไม่กระทบสิทธิ GSP สินค้าไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 24, 2016 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลง แน่นอนว่าทั่วโลกย่อมกำลังจับตามอง "นายโดนัล ทรัมป์" ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับทิศทางของนโยบายการค้าในเชิงปกป้องอุตสาหกรรมและการจ้างงานภายในประเทศ ที่ทำให้หลายประเทศเกิดความกังวลในเรื่องผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศของตนเองกับสหรัฐฯ ซึ่งสำหรับการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ในขณะนี้มีสิทธิประโยชน์ทางการค้าในส่วนของการยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้าสหรัฐฯ เพียงระบบเดียวที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องแต้มต่อทางภาษีได้ คือ โครงการ GSP

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศเปิดทบทวนการทบทวนโครงการ GSP ประจำปี 2559/2560 แล้ว ซึ่งในการทบทวนดังกล่าว สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นคำร้องทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ (Product Petitions) และการได้รับสิทธิ GSP รายประเทศ (Country Practices)

ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้ศึกษาและเตรียมดำเนินการรักษาสิทธิให้แก่สินค้าไทยทั้งที่อยู่ในข่ายขอเพิ่มเติมรายการในบัญชีสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ แก่สินค้ากระเป๋าถือ/กระเป๋าเดินทาง (พิกัด 4202) และสินค้าที่อยู่ในข่ายที่จะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอคงสิทธิ GSP เนื่องจากคาดการณ์ว่ามูลค่าการนำเข้าสหรัฐฯ ทั้งปี 2559 เกินกว่าระดับเพดาน CNL (Competitive Need Limitations) ที่สหรัฐฯ กำหนด (175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ได้แก่ กล้องถ่ายโทรทัศน์ (พิกัดฯ 8525.80.30) และสินค้าเลนซ์ (พิกัดฯ 9001.50.00)

ทั้งนี้ กรมฯ อยู่ในระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นคำร้องให้ทันภายในวันศุกร์ที่ 2 ธ.ค.59 และ USTR คาดว่าจะประกาศผลการพิจารณาสำหรับกรณีการขอเพิ่มเติมรายการสินค้าได้ภายในเดือนม.ค.60 แต่สำหรับกรณีอื่นๆ เช่น การได้รับสิทธิรายประเทศ หรือรายการสินค้าที่จะขอคงสิทธิ GSP สหรัฐฯ จะมีการพิจารณาและประกาศผลได้ในช่วงปลายมิ.ย.60 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.60 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ลักษณะของการให้สิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐฯ นี้ ต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาเสียก่อน ดังนั้น GSP จึงไม่มีลักษณะที่ถาวรอยู่แล้ว ผู้ส่งออกไทยควรวางแผนการขายและกลยุทธ์ทางการตลาดด้านอื่นๆ ในระยะยาวนอกเหนือจากเรื่องแต้มต่อด้านภาษีที่ได้รับจากโครงการ GSP ไว้ด้วย เช่น การพัฒนาคุณภาพสินค้า การสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก หรือการลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ