รมช.คมนาคมสั่ง รฟท.ทำแผนแก้ปัญหาขาดทุนเร่งตั้งบริษัทพัฒนาสินทรัพย์หวังพลิกฟื้นในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2016 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือกับคณะกรรมการและผู้บริหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า ได้ให้นโยบายและติดตามงาน โดยจะต้องเร่งปฏิรูปรถไฟให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง และลดการขาดทุนให้ได้ โดย รฟท.จะต้องสร้างรายได้เพิ่มให้ได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากปัจจุบัน รฟท.ขาดทุนจากการเดินรถประมาณ 7,500 ล้านบาทต่อปี และจากกิจการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 280-300 ล้านบาทต่อปี เป็นเหตุให้ต้องขอรับการอุดหนุนจากรัฐทุกปี กลายเป็นภาระของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ทั้งนี้ รฟท.จะต้องเร่งจัดทำแผนใน 3 เรื่องคือ การบริหารทรัพย์สิน ให้เร่งรัดแผนการการจัดตั้งบริษัทพัฒนาสินทรัพย์ ให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินรถไฟที่มีจำนวนมากให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่ดินที่ไม่เกี่ยวกับการเดินรถ อย่างน้อย 4 หมื่นไร่ที่มีศักยภาพ เนื่องจากปัจจุบันผลตอบแทนจากที่ดินรถไฟทั่วประเทศ มีประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี หรือมีผลตอบแทนเพียง 1% เมื่อเทียบกับราคาตลาดขององค์กรอื่นๆ ที่เฉลี่ยถึง 4-5% ซึ่งถือว่าการบริหารจัดการทรัพย์สินของรฟท.ได้ต่ำกว่ามาตรฐานของตลาดมาก

ดังนั้น การจัดตั้งบริษัท พัฒนาสินทรัพย์จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้อีก 3-4 เท่าตัว และทำให้รฟท.พลิกฟื้นสถานการณ์สร้างรายได้เพิ่มได้ ซึ่งบริษัทพัฒนาสินทรัพย์ จะเป็นบริษัทลูก โดย รฟท.ถือหุ้น 100% เพื่อดูแลในเชิงนโยบาย ส่วนการบริหารจัดการจะมีรูปแบบเป็นเอกชนมีความคล่องตัวแยกระบบบัญชี และดึงมืออาชีพ หรือ Outsource มาช่วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากรของ รฟท.อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ให้จัดทำแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพและรายได้จากการเดินรถโดยสารและรถสินค้า โดยในส่วนรถโดยสารจะต้องแยกกลุ่มผู้โดยสารเพื่อจัดรูปแบบการให้บริการให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มที่มีรายได้มาก รฟท.จะต้องสร้างบริการที่ดี เพราะรายได้จากผู้โดยสารกลุ่มนี้จะไปช่วยดูแลรายได้จากผู้โดยสารกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้ ขณะที่ยังคงให้บริการในส่วนของผู้มีรายได้น้อยต่อไป โดยจะต้องปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการ มีความสะดวกสบายเช่นกัน ซึ่งจะนำข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลมาใช้ประโยชน์

ส่วนการขนส่งสินค้านั้น จะต้องพยายามให้เกิดการย้ายจากการใช้รถบรรทุกมาใช้รถไฟให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ของ รฟท.แล้วยังเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศตามนโยบายรัฐบาล อีกด้วย

และจัดทำแผนการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องกับแผนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจความหวังของประเทศในการดึงดูดการลงทุนจากประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมไทยจากระดับการพึ่งพาแรงงานมาเป็นการพึ่งพาองค์ความรู้ ซึ่ง รฟท.มีหน้าที่ในการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์จากกรุงเทพ และทั่วทุกภาคของประเทศเข้าสู่ EEC โดยให้ รฟท.ทำแผนทั้งหมด เสนอมาภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเร่งนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่ง รฟท.จะต้องตั้งคณะทำงานในส่วนนี้ และทำงานประสานกับคณะทำงานของกระทรวง

นายพิชิต กล่าวว่า หากสามารถตั้งบริษัทพัฒนาสินทรัพย์ได้ภายใน 3 เดือน เชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่ปี 60 นี้ ซึ่งในส่วนของการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ เช่น บางซื่อ กม. 11 ,สถานีแม่น้ำ อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะกรรมการ PPP แล้ว ส่วนที่ดินมักกะสัน มติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เดิม ต้องการโอนให้กระทรวงการคลังเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุด รฟท.มีแนวคิดจะบริหารจัดการเอง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว

ขณะที่ ที่ดินที่มีสัญญาผู้เช่าเดิมนั้นต้องยอมรับว่า มีการบริหารจัดการค่าเช่าที่ต่ำเกินไป หรือบางจุดไม่มีรายได้เลย ดังนั้น รฟท.จะต้องทำแผนการปรับปรุง แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้เช่าเดิม แต่ค่าเช่าจะต้องเป็นไปตามอัตราตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ