รายงาน กนง.ระบุทิศทางเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแต่ความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มจากปัจจัยตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2017 09:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 8/2559 วันที่ 21 ธ.ค.59 ซึ่งมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว และแรงส่งทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลัก

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นมาแต่ก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของ ปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. โน้มอ่อนค่าแต่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ คู่ค้าคู่แข่งโดยรวม ซึ่ง กนง.ประเมินว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร

ในระยะข้างหน้า กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สามารถกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป กนง.เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

พร้อมกันนั้น กนง.ยังรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 อนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินซึ่งเป็นความตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. กับ รมว.คลัง โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5 ± 1.5% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 60 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวยังเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน รวมทั้งช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอาจส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของโลกและของไทยในระยะข้างหน้าต่ำกว่าในอดีต ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินในระยะต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ