(เพิ่มเติม) กบง.มีมติตรึงราคาขายปลีก LPG เดือนม.ค. แม้ราคาตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 10, 2017 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมฯ มีมติคงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เดือนม.ค.60 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. โดยปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อีก 4.6959 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯชดเชยที่ 0.2887 บาท/กก. เป็นกองทุนน้ำมันฯชดเชยที่ 4.9846 บาท/กก. มีผลตั้งแต่ 10 ม.ค. 60

แม้สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกเดือนม.ค.60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 69 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ 465 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนธ.ค.59 อ่อนค่าลงจากเดือนก่อน 0.4769 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.9820 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับเพิ่มขึ้น 4.6959 บาท/กก. จาก 13.6077 บาท/กก. เป็น 18.3036 บาท/กก.

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ในระยะที่ 1 นั้น ที่ประชุมกบง.ได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ของประเทศ จากเดิมที่ใช้ราคาต้นทุนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามปริมาณการผลิตและจัดหา (LPG Pool) มาเป็นอ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ดังนี้

  • โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและโรงอะโรเมติกส์ ให้ปรับหลักเกณฑ์การกำหนดราคาจากราคาตลาดโลก CP-20 เหรียญสหรัฐฯ/ตันเป็น CP
  • การนำเข้า โดยปรับหลักเกณฑ์การกำหนดราคาจาก CP+85 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เป็นราคา CP+X (X คือ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ซึ่งประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าการสูญเสีย และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอื่นๆ)
  • โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ให้ใช้หลักเกณฑ์ต้นทุนที่แท้จริง (Cost Plus) ซึ่งในเดือนพ.ย.59 – ม.ค.60 ต้นทุนอยู่ที่ 13.2638 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 0.1183 บาท/กก. จากเดิม 13.3821 บาท/กก. เนื่องมาจากราคาเนื้อก๊าซ และค่าเชื้อเพลิงในการผลิตที่ปรับตัวลดลง
  • ปตท.สผ.สยาม ให้ใช้หลักเกณฑ์ต้นทุนที่แท้จริง (Cost Plus) ซึ่งในเดือนพ.ย.59 – ม.ค.60 ต้นทุนคงที่ที่ 15.00 บาท/กก.

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า กบง.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) โดยในไตรมาส 4/59 พบว่าอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 11 เดือน ณ เดือนพ.ย.59 อยู่ที่ระดับ 4,745 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งใกล้เคียงกับแผนที่คาดการณ์ไว้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4,789 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการสัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุ ในปี 65-66 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขยายเวลาการดำเนินงานออกไปถึงสิ้นเดือนม.ค.60 โดยจะมีการแก้ไขหลักการในประเด็นของระบบ Service Contract จากระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต เป็นสัญญาจ้างบริการ ส่วนการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมการด้านกฎหมาย และยกร่างกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นให้เป็นไปอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ คาดว่าการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ ภายหลังจากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมีการประกาศใช้

ขณะที่ถานการณ์ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ความต้องการใช้ในปี 60 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ปริมาณ 5 ล้านตัน/ปี และในปี 61 อยู่ที่ 6.1 ล้านตัน/ปี ,ปี 64 อยู่ที่ 14.2 ล้านตัน/ปี และในปี 68 อยู่ที่กว่า 20 ล้านตัน/ปี ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดหา LNG ในสัญญาระยะยาวเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

โดยตามแผนการจัดหา LNG ในปี 60 จะมาจาก 1.สัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว (LNG SPA) กับบริษัท Qatargas ปริมาณ 2.0 ล้านตัน 2.สัญญา LNG SPA กับบริษัท Shell ปริมาณ 0.375 ล้านตัน 3.สัญญา LNG SPA กับบริษัท BP ปริมาณ 0.317 ล้านตัน 4.สัญญา LNG SPA บริษัท PETRONAS ปริมาณ 0.24-0.36 ล้านตัน และ 5. ตลาด Spot ปริมาณ 1.6-1.9 ล้านตัน

ทั้งนี้ ในปี 60 ประมาณการราคา LNG นำเข้าเฉลี่ยประมาณ 7.53 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู ซึ่งคิดเป็นประมาณการราคานำเข้าเฉลี่ยจากสัญญาระยะยาว เท่ากับ 7.77 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู และประมาณการราคานำเข้าเฉลี่ยจากสัญญา Spot เท่ากับ 7.00 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู แต่อย่างไรก็ตาม ราคา LNG ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 59 ได้ปรับตัวสูงขึ้น และคาดการณ์ว่าราคา LNG ในไตรมาส 1/60 จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า กบง.ยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558–2579 (PDP 2015) ในช่วงไตรมาส 4/59 โดยโครงการระบบส่งไฟฟ้าเป็นไปตามแผนงาน แต่มีบางโครงการที่การดำเนินการล่าช้า เนื่องจากการคัดค้านของชุมชน และการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของภาคใต้ มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 2 โครงการ คือ 1.โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ก่อสร้างสายส่ง 500 เควี วงจรคู่ จากจอมบึง -บางสะพาน 2 – สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 กำหนดแล้วเสร็จในปี 62 และระยะที่ 2 ก่อสร้างสายส่ง 500 เควี วงจรคู่ จาก บางสะพาน 2- สุราษฎร์ธานี 2 กำหนดแล้วเสร็จในปี 65 และ 2.โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าระยะที่ 12 ซึ่งมีโครงการย่อย คือ การก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 เควี คลองแงะ – สตูล ซึ่งปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้กบง.ยังได้พิจารณาทบทวนต้นทุนการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกในปี 59 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราเงินชดเชยให้แก่โรงกลั่นน้ำมัน ที่รับซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จากการแปรรูปขยะพลาสติก เป็น อัตราเงินชดเชย ที่ระดับ 14.55-ราคาน้ำมันดิบ โดยราคาน้ำมันดิบ หมายถึงราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนก่อนหน้า มีหน่วยเป็นบาท/ลิตร ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบดูไบสูงกว่า 14.55 บาท/ลิตร จะไม่มีการชดเชยต้นทุนการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก โดยให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณใหม่ ตั้งแต่เดือนม.ค.60 เป็นต้นไป และให้มีการทบทวนต้นทุน ฯ ทุก ๆ 1 ปี

เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก และจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกผลิตและจำหน่ายให้โรงกลั่น อีกทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และความเป็นอยู่ของประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ