ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ธ.ค.59 กลับมาปรับลดลงเหตุความกังวลรายจ่ายเพิ่ม จากราคาพลังงาน-ปรับขึ้นค่าแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2017 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนธ.ค.59 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.3 จากระดับ 44.9 ในเดือนพ.ย.59 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังไม่คลายความกังวลต่อภาวะการครองชีพ โดยในเดือนธ.ค.59 ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ประเด็นเรื่องเงินออม และประเด็นเรื่องการมีงานทำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางฤดูกาลที่ในช่วงเดือนธ.ค. จะมีรายจ่ายสูงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา กินเลี้ยงสังสรรค์ รวมถึงการซื้อของขวัญปีใหม่ให้ญาติสนิทมิตรสหาย จึงทำให้เป็นช่วงเดือนที่ครัวเรือนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือนสุดท้ายของปี 59 พลิกกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งหลังจากปรับตัวดีขึ้นในเดือนพ.ย. สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนยังไม่คลายความกังวลต่อภาวะการครองชีพลงนัก โดยในเดือนธ.ค. นี้ ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางฤดูกาล ประเด็นเรื่องเงินออม และประเด็นเรื่องการมีงานทำ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐทยอยออกมาในช่วงปลายปีที่แล้วก็ช่วยหนุนการบริโภคของภาคเอกชนให้ปรับตัวดีขึ้น แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลในระยะสั้นก็ตาม

"สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อเงินออมที่ปรับตัวแย่ลงจากระดับ 46.2 ในเดือนพ.ย.59 มาอยู่ที่ระดับ 44.6 ในเดือนธ.ค.59 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปัจจัยทางฤดูกาลน่าจะส่งผลให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ในช่วงเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้นสูงกว่าเดือนอื่นๆ ในทุกๆ ปี" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ในขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงทรงตัวที่ระดับ 45.6 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังไม่เปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้การบริโภคของภาคเอกชนช่วงไตรมาสที่ 1/2560 ยังขยายตัวเป็นบวกได้แม้จะแผ่วลงจากไตรมาสก่อนหน้าก็ตาม

จากการสำรวจในประเด็นเรื่องการใช้จ่ายของครัวเรือนหลังมีมาตรการช้อปช่วยชาติพบว่า ราว 54% ของครัวเรือนที่มีฐานเงินได้อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนเพื่อนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสินค้าและบริการที่ครัวเรือนในกลุ่มนี้เลือกใช้จ่ายส่วนใหญ่ 27.3% อยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาคือสินค้าในหมวดของใช้ในบ้านที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ยาสีฟัน นอกจากนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ราว 40% ใช้จ่ายประมาณ 3,000-5,999 บาทเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษี ราว 16% ของครัวเรือนที่ใช้จ่ายเต็มวงเงิน (15,000 บาท) ที่สามารถนำลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ ครัวเรือนราว 47% ที่ซื้อสินค้าและบริการเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้มองว่า ในช่วงต้นปี 2560 น่าจะมีการใช้จ่ายลดลง เนื่องจากมีการเร่งซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเก็บกักไว้บางส่วนแล้ว ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนช่วงไตรมาสที่ 1/2560 แผ่วลงกว่าช่วงไตรมาสก่อนหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุด้วยว่า ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในช่วงต้นปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนธ.ค.59 โดยมองว่าค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ของครัวเรือนน่าจะยังไม่ลดลงมากนัก แม้จะมีการเร่งใช้จ่ายไปในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ครัวเรือนเชื้อสายจีนจะซื้อหาสินค้ามาประกอบพิธีไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล รวมถึงสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าก็น่าปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งก็น่าจะเป็นประเด็นที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นครัวเรือนในระยะข้างหน้า

"เดือนแรกของปี 2560 ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ทางด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ที่อาจจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ครัวเรือนเชื้อสายจีนจะจับจ่ายซื้อหาสินค้ามาประกอบพิธีไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล รวมถึงสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าที่อาจถูกกดดันจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาพลังงานที่น่าจะแพงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่จังหวัดภาคใต้" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ