(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เชื่อมีลุ้นส่งออกปี 60 มีโอกาสโตได้สูงกว่า 5% จากคาด 2.5-3.5% หากศก.โลกฟื้นตัวดี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 60 มีแนวโน้มจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน และมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตรา 2.5-3.5% จากปี 59 การส่งออกขยายตัวราว 0.45%

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการส่งออกของไทยในปี 60 ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่า 3.5% หากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น และมีโอกาสที่จะโตได้ถึง 5% หากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญและตลาดหลักกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ แต่อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนตัวเลขส่งออกของปี 60 อีกครั้งในช่วงกลางปี

"การส่งออกของไทยฟื้นตัวจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจในช่วงที่เริ่มเป็นขาขึ้น และมั่นใจว่ากำลังไปได้ดี ถ้าเศรษฐกิจโลกดีขึ้น เราอาจส่งออกได้มากกว่า 3.5% และอาจมีโอกาสทำได้ max ถึง 5%" ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 60 ไว้ว่าจะเติบโตได้ในระดับ 2.5-3.5% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 220,700-222,800 ล้านดอลลาร์ และจากแนวโน้มการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 59 ก็เชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการส่งออกในปีนี้ เพราะได้มีการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเพื่อการส่งออกที่จะมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในปีนี้มาจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นแบบช้าๆ ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าแบบค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการค้าโลกในระยะต่อไป

กระทรวงพาณิชย์ประเมินค่าเงินบาททั้งปี 60 อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ ไปอยู่ในกรอบ 50.0-60.0 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 59 ที่ขยายตัวได้ 0.45% นั้น แม้จะเป็นการขยายตัวที่ไม่สูงนัก แต่หากเทียบกับภาพรวมการค้าโลกในปี 59 ที่ลดลง 3.4% แล้วถือว่าการส่งออกของประเทศไทยอยู่ในสถานะที่น่าพอใจ โดยไทยยังสามารถรักษาตลาดส่งออกหลักไว้ได้ทุกตลาด ทั้งนี้ ได้รายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบตัวเลขการส่งออกดังกล่าวแล้ว

"แม้การส่งออกเราจะโตไม่มากนักในปี 59 แต่หากเทียบกับการค้าโลกโดยรวมที่ติดลบ 3.4% ถือว่าเราอยู่ในลำดับที่ดี น่าพอใจ กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานให้นายกฯ และรองนายกฯ สมคิดทราบแล้ว ซึ่งท่านก็พอใจที่การส่งออกกลับมาอยู่ในแดนบวก และคิดว่าทั้งปี 60 การส่งออกก็น่าจะเป็นบวกขึ้นไปอีก" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

กรณีนโยบายทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่จะมีผลต่อไทยนั้น น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อไทย โดยในแง่ของผลดีคือ 1.ข้อตกลง TPP ที่สหรัฐฯยกเลิกไปนั้น จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศอื่นน้อยลง 2.การที่สหรัฐฯ มีนโยบายปกป้องทางการค้ากับจีน และกดดันจีนมากจนอาจทำให้จีนต้องปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ดีกว่าสินค้าจากจีน และ 3.หากสหรัฐฯ มีนโยบายกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลดีให้สินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าอาหารให้เข้าไปมีโอกาสส่งออกในตลาดสหรัฐมากขึ้น

ในแง่ผลกระทบด้านลบต่อไทย คือ ขณะที่หลายฝ่ายยังมองเห็นความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าของโลก ซึ่งหากสหรัฐฯ ใช้นโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ก็อาจทำให้สินค้าจากไทยที่มีประเภทใกล้เคียงกับสินค้าจากจีนต้องได้รับผลกระทบทางภาษีจากการส่งออกไปยังสหรัฐด้วยเช่นกัน

"หากสหรัฐฯ อยากจะขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อกีดกันการค้ากับจีน ก็จำเป็นจะต้องขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าของประเทศอื่นๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นสหรัฐฯ อาจจะถูกจีนฟ้องร้องได้ว่าเลือกปฏิบัติ ซึ่งกรณีนี้สินค้าไทยที่ส่งเข้าไปสหรัฐฯ เหมือนกับจีนอาจจะโดนหางเลขไปด้วย เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

ด้านการลงทุนนั้น มองว่าในระยะนั้นนี้ สหรัฐฯ คงจะยังไม่ถอนการลงทุนจากไทย เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วการลงทุนของสหรัฐฯในไทยจะเป็นภาคของ real sector แต่อย่างไรก็ดี คงต้องจับตานโยบายด้านการลงทุนในต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดต่อไปว่าจะมีผลกระทบมาถึงไทยมากน้อยเพียงใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ