รมช.คมนาคม สั่ง กทท.เพิ่มผลตอบแทนบริหารสินทรัพย์รอบท่าเรือฯ เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 22, 2017 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า ได้มอบนโยบาย คณะกรรมการ และผู้บริหาร กทท. ในเรื่องการบริหารสินทรัพย์พื้นที่รอบท่าเรือให้มีผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่มีผลตอบแทนประมาณ 600-700 ล้านบาท/ปี คิดเป็น 1.21%

ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ปรับแผนการพัฒนาสินทรัพย์เพื่อให้ได้ตอบแทนในระดับเดียวกับกรมธนารักษ์หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่บริหารสินทรัพย์มีผลตอบแทนที่ 4-5% ส่วนตลาดทั่วไป มีผลตอบแทนถึง 5% ขณะที่ กทท.มีพื้นที่รอบท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เกือบ 700 ไร่ และพื้นที่รอบท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ประมาณ 3,000 ไร่

นายพิชิต กล่าวว่า กทท.จะนำส่งแผนพัฒนาที่ดิน 4 แปลงของท่าเรือกรุงเทพภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้นจะมีการศึกษารายละเอียด ระยะยาวต่อไป โดยต้องไม่ให้กระทบต่อประชาชนที่อยู่เดิมที่จะต้องได้ประโยชน์ด้วย ทิศทางนั้นจะต้องให้สอดคล้องกับการพัฒนา กทม. ส่งเสริมด้านเทคโนโลยี การสร้างชุมชน พัฒนาเป็นย่านอุตสาหกรรมไอที เป็นทั้งที่พักอาศัยและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับการลงทุนนั้นสามารถเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ จะใช้ไทยแลนด์อินฟราฟันด์ ก็ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ กทท.จะพิจารณา เพราะสินทรัพย์ของ กทท.มีความน่าสนใจมาก

นายพิชิต กล่าวอีกว่า กทท.เป็นองค์กรความหวังของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากรองรับการขนส่งถึง 80% ของสินค้านำเข้าและส่งออก ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือมีขีดความสามารถรองรับสินค้าได้ 8 ล้านทีอียู/ปี ซึ่งมีเป้าหมายจะพัฒนาขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าเพิ่มเป็น 18 ล้านทีอียู/ปี ในปี 65 โดยจะมีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3,ท่าเรือกรุงเทพ ส่งเสริมยกระดับประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้ กทท.จะต้องปรับปรุงธุรกรรม และพัฒนาการให้บริการทั้งมิติด้านปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากสินค้าและบริการจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจาก สินค้าที่มีน้ำหนักมาก มูลค่าน้อย เป็นของชิ้นเล็กน้ำหนักน้อยแต่มีมูลค่ามาก ซึ่งต้องการการดูแลด้านขนส่ง รวมถึงการพัฒนาท่าเรือจะต้องสอดคล้องกับ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนน ทางราง ทางอากาศ (สนามบินอู่ตะเภา) ท่าเรือชายฝั่ง และแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน เพื่อให้บริการที่รวดเร็วขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ