ธนารักษ์ รื้อระบบเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุหน่วยราชการ-รัฐวิสาหกิจใช้เกณฑ์คำนวรส่วนแบ่งรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 23, 2017 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการปรับปรุงสัญญาการเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์สำหรับกลุ่มที่ครบอายุสัญญา เบื้องต้นได้แก่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บมจ.บางจาก ปิโตรเลียม (BCP) และ บมจ.การท่าอากาศยานไทย (AOT) โดยจะมีการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการนำส่วนแบ่งรายได้เข้ามาร่วมคำนวณด้วย

สำหรับ การคำนวณส่วนแบ่งรายได้นั้น เบื้องต้นกรมธนารักษ์จะคิดในอัตรา 3% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภาคเอกชน ที่อยู่ที่ระดับ 5-7%

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทางกรมธนารักษ์ได้มีการหารือกับ ทอท.ในเบื้องต้นไปแล้ว และได้เสนอให้ ทอท. กลับไปสำรวจพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ คาดว่าทาง ทอท.ไม่น่าจะมีปัญหา และถ้า ทอท.รับหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวได้ จะมาตกลงกันในรายละเอียดอีกครั้ง

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า การปรับปรุงครั้งนี้จะทำให้สัดส่วนรายได้ของกรมธนารักษ์มีความมั่นคงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะปรับเพิ่มรายได้ภาพรวมแตะ 1 หมื่นล้านบาท/ปี จากปัจจุบันรายได้ในภาพรวมของกรมธนารักษ์อยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาท/ปี

อนึ่ง ปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของกรมธนารักษ์จะมาจากการจัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์จากผู้เช่ารายใหญ่ 7 ราย ซึ่งมีการจ่ายค่าเช่าเป็นมูลค่าเกินปีละ 100 ล้านบาท นอกเหนือจากนั้นจะต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยผู้เช่ารายใหญ่ ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 1,500 ล้านบาท, บมจ.ปตท. (PTT) 561 ล้านบาท, บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 200 ล้านบาท, บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) 169 ล้านบาท, บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด 126 ล้านบาท, บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด 122 ล้านบาท และ บมจ.ไปรษณีย์ไทย 100 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ