พพ.เผยรัฐบาลเล็งเปิดรับซื้อไฟฟ้ารูฟท็อปเสรีราว 100 MW ขายไฟกลับเข้าระบบได้ในก.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 15, 2017 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมเปิดโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เสรี ในรูปแบบที่สามารถขายไฟฟ้ากลับเข้าระบบของการไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือนก.ย.60 นี้ ประมาณ 100 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเบื้องต้นจะจัดสรรให้แก่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มบ้านเรือนและกลุ่มอาคารโรงงาน ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้ ได้มอบหมายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษารายละเอียดเพื่อเตรียมเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

โครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี มุ่งเน้นให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นหลัก และนำส่วนเกินขายเข้าระบบไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งยังช่วยลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (peak) ในช่วงเวลากลางวัน และเป็นการส่งเสริมพลังงานทดแทนของประเทศอีกด้วย แต่โครงการนี้จะไม่มีเงินสนับสนุนอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุนการขายไฟฟ้าเข้าระบบสูงเกินไปเพราะจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ อีกทั้งยังมุ่งไม่ให้ผู้ผลิตไฟฟ้ามุ่งเน้นการขายเข้าระบบไฟฟ้า เพราะรัฐต้องการให้เน้นผลิตเพื่อใช้เองเป็นหลัก

นายประพนธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี โดยไม่จ่ายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบ จำนวน 100 เมกะวัตต์ ที่รัฐบาลได้เปิดโครงการไปเมื่อปี 59 และกำหนดผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในสิ้นเดือนม.ค.60 ขณะนี้ภาครัฐให้ขยายเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไปจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.60 จากนั้นจะนำผลสรุปโครงการนำร่องนี้เสนอต่อกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จประมาณกลางปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีแบบขายไฟฟ้ากลับเข้าระบบได้ในเดือนก.ย.60

สำหรับโครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี โดยไม่จ่ายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบนั้น ได้รับความสนใจน้อยเพราะไม่ได้เปิดให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบจึงทำให้มีปริมาณที่เข้าร่วมโครงการกว่า 40 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งภาครัฐจะนำข้อมูลมาศึกษาและปรับใช้ในโครงการโซล่าร์รูฟท็อปเสรีแบบขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ