รฟม.ยันดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายตามขั้นตอน กระบวนการ ยึดประโยชน์ปชช.เป็นหลัก ปัดเอื้อเอกชนรายเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 24, 2017 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยืนยันว่า รฟม.ได้ดำเนินการในส่วนของการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายตามขั้นตอนและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นไปตามกฎกติกา ส่วนที่มีการตั้งข้อสงสัยโครงการนี้ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งถูกจับจ้องมาตลอดกรณีเอื้อเอกชน ดังนั้น รฟม.จึงได้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และปฎิบัติตามระเบียบทุกขั้นตอน

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) เปลี่ยนแหล่งเงินจากกู้ใจก้ามา ใช้เงินกู้ในประเทศ จึงได้พิจารณาใหม่ในรูปแบบเดินรถต่อเนื่อง เพราะประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด ทางกรรมการมาตรา 13 จึงพิจารณา เมื่อ มี.ค.58 เห็นควรเจรจากับเอกชนรายเดิม และเสนอปรับรูปแบบการลงทุนเป็น PPP-Net Cost เพื่อลดภาระภาครัฐ โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด รัฐไม่ชำระคืน โดยเอกชนได้สิทธิ์เก็บค่าโดยสาร จนถึงผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมรัฐจึงจะได้รับส่วนแบ่งรายได้

และการเดินรถสายสีน้ำเงินโดยรายเดียว ยังประหยัดค่าลงทุนได้ถึง 9,800 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าระบบอาณัติสัญญาณ และอีกส่วนเป็นค่าอุปกรณ์ซ่อมบำรุงหนัก ที่ศูนย์ซ่อมบำรุง เพชรเกษม 48 ประมาณ 1,800 ล้านบาท และ ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ผนวกกับ พ.ร.บ.การรถไฟฟ้า 2543 ผู้รับสัมปทานจะต้องลงทุนให้ก่อน และก่อนเปิดเดินรถ จะต้องโอนทรัพยสินคืนให้รฟม. จากนั้นรฟม.จะให้สิทธิ์ในการเดินรถ หรือรูปแบบ Build- Transfer- Operate- (BTO) ดังนั้น เมื่อลงนามสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงิน ทาง BEM ได้โอนทรัพย์สินให้รฟม. ทั้งระบบรถ อาณัติสัญญาณ อาคารต่างๆ สายเฉลิมรัชมงคล 8,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย ประมาณ 20,000 ล้านบาท

โดยมีตัวอย่างจากโครงการสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมปทานกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) เดินรถ ช่วง 1 สถานี (แบริ่ง-สำโรง) ไปก่อนเพราะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก ซึ่งสายสีน้ำเงินมีลักษณะเส้นทางเป็นวงกลม การเดินรถจากบางซื่อ-หัวลำโพงต่อไปยัง ท่าพระ-จรัญฯ บางซื่อ–พระราม 4- หัวลำโพง

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ในฐานะที่ สคร.เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในการพิจารณาโครงการที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนจะมีขั้นตอน มีกระบวนการ ไม่สามารถเร่งรัดได้ ซึ่งประเด็นแรกจะต้องให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด คือ การเดินรถต่อเนื่อง เป็นโครงข่าย (Through Operation) สะดวกรวดเร็วปลอดภัย และการร่วมกับเอกชนหัวใจสำคัญคือ การแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุของคณะกรรมการข้อตกลงคุณธรรมเรื่อง EIRR ว่าควรให้บุคคลที่ 3 มาตรวจสอบเรื่องรายได้ ว่า เป็นไปตามที่คำนวณกันไว้หรือไม่ ทางสคร.ได้นำเสนอ ครม.ให้มีมติให้มีคนนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเป็นกรรมการประเมินอิสระ เพื่อความรอบคอบ โปร่งใส และเป็นธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ