ผู้ว่ากยท. สั่งเกาะติดสถานการณ์ยางหลังราคาแกว่งตัว แม้ปริมาณการใช้สูงกว่าปริมาณสต๊อก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 25, 2017 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงประเด็นปัจจัยพื้นฐานของยางธรรมชาติในตลาดโลก ปี 60 พบว่า ปัจจุบันปริมาณการใช้ยางของโลกมีอยู่ประมาณ 12.7 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณสต๊อกยางในตลาดโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 60 มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านตัน และเมื่อเปรียบเทียบราคายางในขณะนี้กับปีที่แล้วพบว่าสูงขึ้น 100% โดยราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ในเดือนมกราคมปีที่แล้ว อยู่ที่กิโลกรัมละ 30-40 บาท แต่ในวันนี้ราคายางอยู่ที่ กิโลกรัมละ 70 กว่าบาท ทั้งนี้ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางมีความแกว่งตัว ซึ่งมีสาเหตุจากการเก็งกำไรล่วงหน้าทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงเป็นบวก จึงขอฝากให้ติดตามข้อมูลและสถานการณ์ยางพาราอย่างใกล้ชิด

ในปี 58 ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ประมาณ 4.47 ล้านตัน มูลค่าส่งออกรวมประมาณ 4 แสนล้านบาทเศษ เป็นรายได้ที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์การผลิตและการใช้ยางพาราของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหานั้น พบว่าปริมาณการผลิต และปริมาณการใช้ยางพาราไม่สมดุลกัน เกิดความผันผวนของราคายางตั้งแต่ปลายปี 54 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาราคายาง และเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมลดภาระงบประมาณของรัฐบาล โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการยางให้มีการการดูดซับยางพาราออกจากระบบนำมาเก็บสต็อกของผู้ประกอบการในลักษณะหมุนเวียน (moving stock) เป็นการลดปริมาณยางในตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีเสถียรภาพมากขึ้นอันจะเป็นผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุม นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำนโยบายการลดพื้นที่ปลูกยางและเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น และกล่าวในที่ประชุมว่า ราคายางพาราในขณะนี้ อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ขอให้ใช้เวลานี้ให้เกิดประโยชน์ในการปรับโครงสร้างทางการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องของยางพาราให้เข้ารูปเข้ารอย

โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลา 1.)โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา แต่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรบางส่วนยังไม่สามารถคืนเงินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไปจนถึง 31 มีนาคม 2563 จะได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ได้อย่างถูกต้อง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2.)โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีการช่วยเหลือไปแล้วแบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง จำนวน 711,839 ครัวเรือน และ คนกรีดยาง จำนวน 675,790 ครัวเรือน ยังมีเกษตรกรที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ์ยังตกค้างอยู่อีกประมาณ 11,460 ครัวเรือน ที่ประชุมจึงอนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาโครงการเวลาออกไปอีก 90 วัน นับถัดจากวันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ รวมไปถึง

3.)โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่ประชุมมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้กระบวนการดำเนินงานทั้งหมดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดจะถูกนำเข้าในที่ประชุม ครม. เพื่อผ่านความเห็นชอบอีกครั้ง

4.)โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในโครงการนี้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

“สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง โดยรัฐบาลจะสนับสนุนด้วยการชดเชยดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ หรือคิดเป็นเงินช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 1 หมื่นล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการที่กู้เงินธนาคารใดๆ ก็ตาม เพื่อเป็นการผลักดันราคายางให้สูงขึ้น"นายธีธัช กล่าวเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ