(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย.อยู่ที่ 77.0 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 4, 2017 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนเม.ย. 60 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 77.0 จาก 76.8 ในเดือน มี.ค.60 โดยดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่เป็นการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 65.4 จาก 65.1 ในเดือน มี.ค.60 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 71.6 จาก 71.4 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 94.0 จาก 93.8

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีฯ มาจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 60 ที่ 3.6% , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ GDP ไตรมาส 1/60 เติบโตสูงกว่า 3% เล็กน้อย โดยทั้งปี 60 คาดขยายตัวได้ 3.3%, ส่งออกเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 9.22%, พืชผลทางการเกษตรหลายรายการราคาเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะยาง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง, ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินโยบบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศที่อาจจะก่อให้เกิดสงครามได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะช่วงปลายไตรมาส 2 หากรัฐบาลอัดฉีดเงินงบประมาณกลางปีกว่า 1 แสนล้านบาทผ่านโครงการพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัดในไตรมาส 2 ได้ตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต เพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการเริ่มฟื้นตัวและการฟื้นตัวยังไม่ได้กระจายตัวไปทุกภาคอุตสาหกรรมหรือทุกพื้นที่ อีกทั้งราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

“จากปัจจัยเชิงลบภายนอก และภายในประเทศ แม้การส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่คนทั่วไปยังไม่มั่นใจเต็มที่ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังแค่ฟื้นตัวอ่อนๆ ทำให้ผู้บริโภคกลับมามีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งสัญญาณนี้อาจเป็นสัญญาณระยะสั้นหลังจากเพิ่งผ่านช่วงสงกรานต์ และเตรียมการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม แต่หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อเนื่องไปในเดือนพ.ค. และตอกย้ำมาถึง มิ.ย. อาจจะทำให้เราต้องเปลี่ยนมุมมองมาเป็นว่ากำลังซื้อในประเทศเข้าสู่ภาวะชะลอตัว" นายธนวรรธน์ ระบุ

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่าการฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญรัฐบาลใช้งบประมาณกลางปีกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นายธนวรรธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน คือ รัฐบาลควรเร่งการใช้เม็ดเงินงบประมาณกลางปีกว่าแสนล้านบาท ผ่านโครงการพัฒนาใน 18 กลุ่มจังหวัด ด้วยการใช้เงินจัดซื้อวัตถุดิบ และจัดจ้างแรงงานในพื้นที่ เพื่อทำให้เม็ดเงินลงถึงมือประชาชนได้อย่างแท้จริง

“อยากให้รัฐบาลเร่งใช้เงินงบประมาณกลางปี โดยการจัดซื้อจัดจ้าง การซื้อวัตถุดิบ และการใช้แรงงานในพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค และช่วยพยุงสถานการณ์ที่ราคาสินค้าเกษตรบางตัวยังมีระดับต่ำ" นายธนวรรธน์ ระบุ

ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ควรต้องเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็วในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ท่ามกลางภาวะที่การส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ราคาน้ำมันตลาดโลก รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการเริ่มย่อตัวลง ซึ่งจะมีผลมาถึงสินค้าเกษตรของไทย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ดังนั้นการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และที่สำคัญคือการบริหารจิตวิทยาในการสร้างความเชื่อมั่นประชาชนให้เป็นไปในเชิงบวก เพราะปัจจุบันยังมีหลายคนกังวลว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้วจริงหรือไม่

“สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ การเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะทำให้เม็ดเงินลงไปในพื้นที่ในช่วงนี้ เพราะการส่งออกกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ และเกิดการจ้างงานใหม่ หรือทำให้เม็ดเงินสะพัดไปในพื้นที่คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ขณะที่การท่องเที่ยวช่วง เม.ย.-มิ.ย. ก็เป็นช่วง low season ดังนั้นจังหวะนี้จึงเป็นจังหวะสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณกลางปี" นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง พยายามจะหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้มากกว่า 4% นั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อประเทศ เพราะจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เกิดโมเมนตัม และทำให้เกิดความเชื่อมั่นไปยังหลายภาคส่วน ซึ่งการจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่โตได้ในระดับ 4% นั้น ต้องมาจากเร่งการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการส่งเสริมการลงทุนของประเทศอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งภาครัฐอาจพิจารณาใช้มาตรการประกันราคาสินค้า ในการดูแลราคาพืชผลเกษตร เพื่อให้ภาคเกษตรได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ 4% ด้วย

อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคงคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 3.6% ส่วนการส่งออกเติบโตได้ 2-3%

สำหรับแนวทางที่กระทรวงการคลังจะให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 3 หมื่นบาทนั้น นายธนวรรธน์ เห็นด้วยในหลักการ เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาคนยากจนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัวด้วย แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการวัดผลการดำเนินงานด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวทางที่จะดำเนินการนั้นจะต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย และมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นโครงการประชานิยม

อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะปานกลางถึงระยะยาว รัฐบาลจะต้องสนับสนุนด้านการจัดฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นแรงงานฝีมือที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การมีรายได้ที่ดีขึ้นในอนาคตและหลุดพ้นจากเส้นความยากจนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ