ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปิกอัพปีนี้เหลือโต 2-5% หลังตลาดตอ.กลางหดตัวรุนแรง แนะทำตลาดโอเชียเนีย-CLMV ทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 29, 2017 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการส่งออกรถปิกอัพของไทยในปี 60 อาจหดตัวน้อยลงเหลือ 2-5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่หดตัว13.3% หรือคิดเป็นยอดส่งออกรถปิกอัพประมาณ 550,000-565,000 คัน ลดลงจาก 576,585 คันในปี 2559 จากการหดตัวของตลาดตะวันออกกลางอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลักคือ เรื่องราคาน้ำมันที่มีโอกาสปรับลดลงอีก และความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาค

ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือน ม.ค.60 เป็นต้นมายอดส่งออกรถยนต์จากไทยไปยังต่างประเทศบ่งชี้ถึงทิศทางที่หดตัวลงต่อเนื่อง หลังจากหดตัวลงมาตลอดตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยโดยรวมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 หดตัวถึง 9.1% และหากพิจารณาเป็นรายประเภทจะพบว่ายอดส่งออกรถยนต์นั่งในช่วง 5 เดือนนี้มีการหดตัว 3.7% ขณะที่รถปิกอัพหดตัว 8.5% และรถเอนกประสงค์ PPV หดตัว 28% โดยในปีนี้ตลาดส่งออกรถปิกอัพซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 50% ของตลาดส่งออกรถยนต์รวม ต้องเผชิญกับการหดตัวที่รุนแรงของตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเป็นตลาดนำเข้าปิกอัพอันดับ 1 ของไทยต่อเนื่องมาอย่างยาวนานกว่า 9 ปี ก่อนเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคทำให้ยอดนำเข้าลดลง ทว่าท่ามกลางสถานการณ์ตลาดส่งออกรถปิกอัพรวมที่ซบเซา ตลาดประเทศในกลุ่มโอเชียเนีย และบางประเทศในเอเชีย กลับยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งปัจจัยบวกหลายด้านในประเทศเหล่านี้คาดว่าอาจช่วยกระตุ้นยอดส่งออกปิกอัพของไทยได้ในช่วงที่เหลือของปี

โดยช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา การส่งออกรถปิกอัพของไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญ หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกดิ่งลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 และเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่งผลให้การนำเข้ารถปิกอัพของตลาดตะวันออกกลางลดลงมาก ทำให้จากที่อดีตเคยเป็นตลาดนำเข้ารถปิกอัพอันดับ 1 ของไทยต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2549 ลดอันดับลงมาสู่อันดับที่ 3 ในปี 2559 และล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ตะวันออกกลางได้กลายมาเป็นตลาดนำเข้ารถปิกอัพอันดับ 4 ของไทย จากทั้งหมด 7 ภูมิภาคหลัก ซึ่งการลดการนำเข้าลงของตลาดตะวันออกกลางดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถปิกอัพรวมของไทย

สาเหตุหลักที่ทำให้การนำเข้าจากไทยลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาค อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของประเทศในกลุ่มซึ่งพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลักนั้นลดต่ำลง สงครามและความขัดแย้งในภูมิภาค และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเบี้ยประกันรถยนต์ที่สูงมากในบางประเทศ เหล่านี้เป็นต้น ทำให้ตลอดช่วงที่ผ่านมาดีลเลอร์รถยนต์ในประเทศเหล่านี้ต่างต้องปรับตัวบริหารสต็อกรถยนต์ที่ล้นตลาดอยู่เป็นจำนวนมากให้เข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าแนวโน้มปัญหาดังกล่าวจะลดลง

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวลดลงส่งผลกดดันตลาดอยู่ ทำให้แม้ว่าการส่งออกรถปิกอัพไปยังตลาดตะวันออกกลางในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 นี้น่าจะมีอัตราการหดตัวที่ลดน้อยลงตามลำดับจากฐานที่ต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว แต่ก็อาจยังคงไม่ทำให้จำนวนการส่งออกรถปิกอัพไปยังตลาดดังกล่าวฟื้นตัวได้

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกรถปิกอัพไปยังตลาดตะวันออกกลางรวมทั้งปี 2560 น่าจะหดตัวระหว่าง 39-41% หรือคิดเป็นจำนวนรถปิกอัพส่งออกไปทั้งสิ้นระหว่าง 62,500-64,000 คัน จากที่ส่งออกได้ 105,606 คัน หรือหดตัว 44.2% ในปี 2559" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

แม้การส่งออกรถปิกอัพไปตะวันออกกลางซึ่งกลายมาเป็นตลาดรองของไทยจะหดตัวรุนแรง ทว่าการส่งออกไปตลาดหลัก คือ โอเชียเนีย และบางประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่นั้นยังมีโอกาสเติบโตได้ดี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกรถปิกอัพไปตลาดโอเชียเนียในปี 2560 นี้ น่าจะขยายตัวได้ถึงราว 10-14% หรือคิดเป็นจำนวนรถปิกอัพที่ส่งออกไปทั้งสิ้น 214,000-222,000 คัน จากที่ส่งออกได้จำนวน 194,433 คัน ขยายตัว 1.1% ในปี 2559 ส่วนตลาด CLMV นั้น คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกรถปิกอัพไปได้ระหว่าง 44,000-45,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 7-10% (จากที่ส่งออกรถปิกอัพได้ประมาณ 41,100 คัน หรือขยายตัวราว 7.5% ในปี 2559) ส่งผลให้การส่งออกรถปิกอัพโดยรวมไปยังตลาดเอเชียที่กำลังเผชิญกับการหดตัวของตลาดหลักเดิม เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ให้สามารถทรงตัวที่ 0% ถึงเติบโตได้ที่ 2% ในปีนี้ หรือคิดเป็นรถปิกอัพ 112,000-114,500 คัน ขยายตัวจากปี 2559 ที่ส่งออกได้ 111,380 คัน หดตัวเล็กน้อยจากปี 2558 เพียง 0.2%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดโอเชียเนีย และ CLMV น่าจะมีส่วนหนุนการส่งออกรถปิกอัพของไทยในระยะต่อไป และเมื่อผนวกกับการที่คาดว่าตลาดตะวันออกกลางน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดแล้ว ทำให้การส่งออกรถปิกอัพของไทยในปี 2561 น่าจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง ส่วนในระยะถัดไปการเปิดตลาดยอมรับรถปิกอัพที่มีรูปลักษณ์สวยสง่าเพื่อนำมาใช้งานส่วนบุคคลที่มากขึ้นในบางประเทศ และโอกาสที่จะเกิดการลงทุนผลิตรถปิกอัพพลังงานไฟฟ้า เช่น ไฮบริด หรือปลั๊กอินไฮบริดในไทยตามการสนับสนุนของรัฐบาล อาจทำให้รถปิกอัพจากไทยสามารถบุกตลาดใหม่ที่หลากหลายมากขึ้นได้ โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ และจีน เป็นต้น ซึ่งกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ ดังนั้นหากรัฐบาลและค่ายรถปิกอัพสามารถร่วมมือกันวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับจังหวะเวลาต่างๆได้ ไทยน่าจะยังคงสามารถรักษาฐานะการเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถปิกอัพอันดับต้นๆ ของโลกได้

"การส่งออกไปยังกลุ่มโอเชียเนียนำโดยออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากการตอบรับที่ดีของตลาดต่อรถปิกอัพ และการที่โรงงานผลิตรถปิกอัพในออสเตรเลียได้ทยอยปิดลงไปก่อนหน้านี้ ทำให้ความต้องการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนตลาด CLMV พบว่าการส่งออกไปเวียดนามขยายตัวดีมาก แต่อาจมีการชะลอตัวลงได้ในช่วงครึ่งหลังเนื่องจากอาจมีการชะลอซื้อรถเพื่อรอดูราคารถยนต์หลังการปรับลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2561" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ