(เพิ่มเติม1) กกพ.มีมติปรับเพิ่มค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค.60 อีก 8.87 สต./หน่วย ตามภาวะต้นทุนสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 12, 2017 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนก.ย.-ธ.ค.60 ที่ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย ปรับเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 8.87 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ในการพิจารณาค่าเอฟทีครั้งก่อนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ และมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าปีนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย

สาเหตุหลักมาจาก สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงตามฤดูกาล และการใช้ถ่านหินที่ลดลงจากการหยุดบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าตามแผนในช่วงฤดูหนาวที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งปรับตัวสูงขึ้นโดยเป็นผลมาจากสัดส่วน LNG ที่เริ่มสูงขึ้น จากราคาน้ำมันเตาที่ปรับตัวขึ้นก่อนหน้า โดยที่มีค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนส่วนที่สูงกว่าประมาณการในรอบที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสะสมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 ได้แก่ 1. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าช่วง พ.ค. – ส.ค. 60 (ปรับปรุงค่าจริงเดือน พ.ค. 60) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 34.31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 34.19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 0.12 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยวันที่ 1-16 มิ.ย. 60

2. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 เท่ากับ 61,420 ล้านหน่วย ปรับตัวลดลงจากช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 เท่ากับ 4067 ล้านหน่วย คิดเป็น -6.21%

3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 63.64% รองลงมาเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากลาว 12.63% ลิกไนต์ 9.14% และถ่านหินนำเข้า 7%

4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติรวมค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการของโรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน 245.64 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 3.80 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันเตาคงที่อยู่ที่ 13.27 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 20.04 บาทต่อลิตร ลดลงจากงวดปัจจุบันที่ปรับปรุงค่าจริงเดือน พ.ค. 60 ซึ่งอยู่ที่ 21.18 บาทต่อลิตร เท่ากับ 1.14 บาทต่อลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,108.45 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,178.64 บาทต่อตันในงวดปัจจุบันที่ปรับปรุงค่าจริงเดือน พ.ค. 60 แล้ว เท่ากับ 70.19 บาทต่อตัน และราคาลิกไนต์ กฟผ. อยู่ที่ 693 บาทต่อตัน ไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐในส่วน Adder และ FiT ในเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,312.97 ล้านบาทในประมาณการงวดป้จจุบัน (ปรับปรุงค่าจริงเดือนพฤษภาคม 2560) มาอยู่ที่ 14,497.07 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 184.10 ล้านบาท ประกอบกับประมาณการจำนวนหน่วยไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 จะลดต่ำลงจากช่วงปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อเทียบเป็นอัตราต่อหน่วยแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 ซึ่งอยู่ที่ 25.81 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น จากงวด พ.ค. - ส.ค. 60 ที่ปรับปรุงค่าจริงเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งอยู่ที่ 23.81 สตางค์ต่อหน่วย เท่ากับ 2.00 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ จากการปรับค่าเอฟทีเรียกเก็บงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.60 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ระดับ 3.7556 บาทต่อหน่วย จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5966 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งจากมติ กกพ. ดังกล่าวทางสำนักงาน กกพ. จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 12 – 26 กรกฎาคม 2560 เวลา 12.00 น. ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็น มาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับค่าเอฟทีงวดถัดไปในเดือนม.ค.-เม.ย.61 อาจจะขยับขึ้นอีกราว 12-13 สตางค์ต่อหน่วย หากปัจจัยพื้นฐานยังคงเดิม ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ายังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น สะท้อนจากราคาน้ำมันย้อนหลังช่วง 6-8 เดือนก่อนหน้าที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงยังสะท้อนการใช้เชื้อเพลิงที่แพงขึ้นในการผลิตไฟฟ้าจากการหยุดผลิตและจ่ายก๊าซธรรมชาติกระทันหันของแหล่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ เอ-18) ในช่วง 17 วันที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ตามหากค่าเงินบาทในงวดดังกล่าวแข็งค่าขึ้นจากปัจจุบันก็อาจจะช่วยลดผลกระทบการปรับขึ้นค่าเอฟทีดังกล่าวได้ด้วย

สำหรับผลกระทบจากการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ ในส่วน Adder และ FiT หลังโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 นั้น จะเข้าระบบในช่วงปลายปี 61 ก็คาดว่าจะเข้ามาสะท้อนในค่าเอฟทีสำหรับงวดม.ค.-เม.ย.62


แท็ก ค่าไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ