สำนักวิจัยประเมิน GDP ไทย Q2/60 โตต่อเนื่องจาก Q1/60 หลังส่งออกฟื้นกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 17, 2017 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างเห็นพ้อง GDP ไตรมาส 2 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยมีแรงหนุนสำคัญจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว พร้อมหวังว่าการเร่งลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้ แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงเรื่องความผันผวนของค่าเงิน และนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐที่จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ

          หน่วยงาน                              GDP Q2/60          GDP ปี 60
   ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                                  3.2%             3.4%
   ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย           3.5%           3.3 - 3.7%
   ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์            2.9%             3.4%
   สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง                        3.4 - 3.5%          3.6%

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/60 จะเติบโตได้ราว 3.2% ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/60 ที่เติบโตได้ 3.3% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่ไม่ได้โดดเด่นมากนัก เป็นเพียงแค่รักษาระดับการเติบโตให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่เป็นตัวช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว มาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่สามารถเติบโตได้ดี ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จะพบว่าการส่งออกในไตรมาส 2 เฉลี่ยเติบโตได้ 11% ในขณะที่ไตรมาสแรกเติบโต 4.9%

อย่างไรก็ดี มองว่าในช่วงไตรมาส 2 นี้การลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอ ในขณะที่การเบิกจ่ายของภาครัฐยังทำได้ไม่เร็วนัก ประกอบกับ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แผ่วลงจากไตรมาสแรก ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาตลาดโลก และเชื่อว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ถึงจุดสูงสุดของปีไปแล้วในช่วงไตรมาส 1 และเริ่มอ่อนตัวลงจากปัจจัยพื้นฐานที่ยังมี supply อยู่ในปริมาณมาก

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 60 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 3.4% โดยมี 3 ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก คือ 1.การลงทุนภาครัฐ ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯ ให้น้ำหนักการเติบโตในไตรมาส 2 ไว้ถึง 8.5% รองลงมา คือปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะขยายตัวได้ 8.2% และปัจจัยที่ 3 ภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นแรงฉุดได้กลายมาเป็นแรงหนุน โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.8% แต่หากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้การส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็จะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ยังเติบโตช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากเศรษฐกิจอ่อนแอ ประกอบกับยังมี supply สูงในธุรกิจต่างๆ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งปัจจัยทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า จึงทำให้นักลงทุนอยู่ในภาวะ wait and see ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สอง คือ ปัจจัยต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่จะมีผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวข้อง เช่น ยางพารา ปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังมีตัวแปรสำคัญ คือ ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ เพราะจะมีผลต่อค่าเงินและทิศทางของตลาดเงินโลกด้วย

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้จะเติบโตได้ราว 3.5% โดยปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวมาจากการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เนื่องจากการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 2 เติบโตได้ถึง 11% นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยหนุนจากด้านการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ในขณะที่ปัจจัยอื่นยังไม่มีความโดดเด่นนัก

สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 60 นี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าจะเติบโตได้ราว 3.3-3.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.3% เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวสามารถเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งจะได้ปรับประมาณการส่งออกไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 4-5% จากเดิมที่คาดไว้ 3.7%

อย่างไรก็ดี กำลังซื้อในประเทศที่ยังชะลอตัวได้ส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวตามไปด้วย และมีผลกระทบต่อไปถึงการดำเนินธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ค่อนข้างมาก ทำให้มองว่าการดำเนินธุรกิจของ SMEs ในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญกับความยากลำบากต่อเนื่อง รวมทั้งมีปัจจัยกดดันจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปี 60 เป็นรายไตรมาสไว้ดังนี้ ไตรมาส 1 โต 3.3%, ไตรมาส 2 โต 2.9%, ไตรมาส 3 โต 3.6% และไตรมาส 4 โต 3.9% ซึ่งเฉลี่ยแล้วเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 3.4%

SCB EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้จากอานิสงส์ของการส่งออกสินค้าที่ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ภาคการส่งออกไทยฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดในครึ่งปีแรก และยังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี และจึงทำให้ EIC ปรับประมาณการการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในปีนี้เป็น 3.5% จากระดับ 1.5% ในประมาณการครั้งก่อนหน้า

ทั้งนี้ การส่งออกที่ดีขึ้นทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาขยายการผลิตของภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อรองรับกำลังซื้อจากภายนอกที่เพิ่มขึ้นและทดแทนสินค้าคงคลังที่ลดลงมาเป็นเวลานาน แนวโน้มดังกล่าวมีโอกาสทำ ให้การลงทุนภาคเอกชนรวมไปถึงการจ้างงานที่ยังคงซบเซาอยู่ปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงหลังจากนี้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบกลางมูลค่ากว่า 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการจ้างงานและการบริโภคในต่างจังหวัด ทำให้การขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนสามารถครอบคลุมไปถึงกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางถึงล่างมากขึ้น จากที่พึ่งพาเพียงกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงเป็นสำคัญในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในรายสินค้าส่งออกของไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ปัญหาภาคการเงินในจีน และปัญหาการเมืองในยุโรปจาก Brexit รวมถึง การเลือกตั้งในอิตาลี ตลอดจนความเสี่ยงในตลาดการเงินทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทย และค่าเงินบาทที่จะยังคงมีความผันผวนสูงตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่แปรปรวนตามความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและสภาวะการเมืองในต่างประเทศ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/60 มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยประเมินว่าขยายตัวในระดับ 3.4-3.5% มีการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ซึ่งการส่งออกในไตรมาส 2 ขยายตัวสูงถึง 10.9% การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 13.9% ต่อปี

ขณะที่เศรษฐกิจไทยด้านการผลิต ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2/60 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 16.8% และภาคการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 7.6% ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

อย่างไรก็ดี สศค.คาดว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.6% โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และกระจายในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป


แท็ก GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ