ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศยื่นหนังสือนายกฯ ค้านนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ หวั่นส่งผลกระทบลูกโซ่จนกระทบภาพรวมศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 17, 2017 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรราชบุรี และตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าชิ้นส่วนสุกรสหรัฐฯ ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผู้ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย เพื่อปกป้องความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคชาวไทยและอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร หลังสหรัฐฯ อ้างเหตุขาดดุลการค้ากับไทย และหยิบยกประเด็นให้ไทยนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐฯขึ้นมาเจรจาอีกครั้ง

โดยนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากประเด็นการเร่งรัดแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่สร้างแรงกดดันทางการค้า ต่อสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) พยายามให้ไทยรับชิ้นส่วนเนื้อสุกรที่ชาวอเมริกันไม่รับประทาน เช่น เครื่องใน หัวหมู เพื่อระบายสินค้าเหลือทิ้งดังกล่าวมายังไทย โดยฟาร์มสุกรทั้ง 100% ของสหรัฐฯ มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แร็คโตปามีน) เนื่องจากใช้ได้อย่างถูกกฏหมาย ขณะที่สารดังกล่าวเป็นสารต้องห้ามตามบัญญัติในกฎหมายไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข

"การใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกรในสหรัฐฯ ขัดต่อกฎหมายไทย ดังจะเห็นได้จากกรมปศุสัตว์ที่มีมาตรการเข้มงวดในการตรวจจับผู้ลักลอบใช้และลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง ขณะที่ทุกประเทศที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคจะห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในภาคปศุสัตว์ อาทิ สหภาพยุโรป รัสเซีย และจีน ดังนั้นสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องขอร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทย ยืนยันการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องประชาชนไทย ปกป้องเกษตรกรไทยและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเกษตรที่เป็นรากฐานและเสาหลักของประเทศ" นายสุรชัยกล่าว

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นแหล่งผลิตสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงทั้งประเทศ ขณะที่ประเทศไทยประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์อย่างเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เพื่อความปลอดภัยในอาหารและสุขอนามัยของผู้บริโภค ประกาศดังกล่าวห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือยาในกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ผสมอาหารสัตว์ทุกตัว (รวมทั้งแร็กโตปามีน) เนื่องจากสารดังกล่าวมีโทษต่อสัตว์และมนุษย์

ขณะเดียวกัน อาชีพการเลี้ยงสุกรช่วยสร้างความมั่นคงและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรไทยทั่วประเทศมานาน และในกระบวนการผลิตสุกรของไทยนั้นมีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถผลิตเนื้อสุกรที่มีคุณภาพสูงและมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ หากมีเนื้อสุกรจากสหรัฐฯเข้ามาอีก จะส่งผลให้ปริมาณสุกรล้นตลาดเกินความต้องการ ราคาสุกรจะตกต่ำลง ส่งผลกระทบให้เกษตรกรต้องประสบภาวะขาดทุน และล้มละลายไปดังที่ปรากฏให้เห็นแล้วในประเทศเวียดนามที่เปิดรับเนื้อสุกรสหรัฐฯ

"ไม่เพียงผู้เลี้ยงสุกรกว่า 2 แสนครอบครัวเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่จะมีผลเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งอุตสาหกรรมสูงถึง 80,000 ล้านบาท หากต้องล่มสลายเพราะสุกรสหรัฐฯ บุกตลาดไทยแล้ว ย่อมต้องกระทบภาพรวมเศรษฐกิจของชาติ" นายสุรชัยกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ