ก.อุตฯ เตรียมรับทัพนักธุรกิจญี่ปุ่น 11-13 ก.ย.ร่วมขยายการค้าการลงทุน 10 S-Curve

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 7, 2017 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย.นี้ Mr.Hiroshige Seko รมว.เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) จะนำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหญ่กว่า 560 รายเดินทางมาประเทศไทยเพื่อหารือและขยายผลการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร่วมกัน ซึ่งจะมาพร้อมด้วยหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (KEIDANREN), องค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่นกรุงเทพ (JETRO), องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA), องค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ)

ประเด็นหลักนอกเหนือจากการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ และการรวมตัวนักลงทุนที่มีจำนวนมากที่สุดเพื่อเพิ่มน้ำหนักความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว กิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำทิศทางการดำเนินงาน ทั้งในเรื่องของการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การยกระดับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนแผนในการลงทุนด้านนวัตกรรม ระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยมียุทธศาสตร์ Connected Industries และ Thailand 4.0ที่จะนำพาทั้ง 2 ประเทศไปสู่เป้าหมายแบบต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ พร้อมเชื่อมเศรษฐกิจไทยไปสู่ระดับโลกได้มากขึ้น

รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นหนึ่งในเจ้าภาพหลักของการนำคณะเดินทางเพื่อชมความพร้อมของประเทศไทยในครั้งนี้ โดยเบื้องต้นได้เตรียมจัดกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างกรอบความร่วมมือและทำความเข้าใจในการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) การลงพื้นที่เยี่ยมชมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่จริงของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, สถาบันวิทยสิริเมธี ในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาและกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน หรือเป็นที่ตั้งของสถานประกอบกิจการแต่ละประเภทไว้ให้ชัดเจน เพื่อให้พร้อมสำหรับนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่จะตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยได้ตรงกับความต้องการของแต่ละสาขา

นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเป็น 4 หน่วยงานเศรษฐกิจหลักในการร่วมจัดสัมมนาใหญ่ ในหัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries โดยในกิจกรรมนี้ จะมีนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหม่เข้าร่วมประมาณเกือบ 600 ราย นักลงทุนและผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยอยู่แล้วอีกประมาณ 400 ราย รวมทั้งผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็กของไทยอีกกว่า 300 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป, ยานยนต์ และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการจากนิคมอุตสาหกรรม อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่ม SCG, กลุ่มไทยเบฟ, กลุ่มเซ็นทรัล, อายิโนะโมโตะ, คูโบต้าคอร์ปอเรชั่น, มิตซุยซูมิโตโม่อินชัวรันส์ ฯลฯ ที่จะเข้าร่วมรับฟังยุทธศาสตร์และแนวทางในการขับเคลื่อนพร้อมกัน พร้อมด้วยการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพกว่า 300 ราย กับคณะของญี่ปุ่น

โดยจะแบ่งเป็น 4 โซนตามประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ โซนที่ 1 Automobiles (Smart Automobiles, Aviation, Maintenance, Related Industries) โซนที่Electronics (Smart Electronics, Robotics และ Digital) โซนที่ 3 Medical & Agriculture, Biotechnology, Food (Medical & Wellness Tourism, Medical Hub, Agriculture, Biotechnology, Food, Biofuel, Biochemical) และ โซนที่ 4 Service Industries (Trading, Retail, Logistics, Industrial Park) นอกจากนี้ ยังมีโซนที่ 5 ที่หน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะมาให้ข้อมูลกับนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแผนที่จะเร่งให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีการลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจท้องถิ่น พร้อมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อนให้มากขึ้น โดยหลังจากนี้จะหยิบยกมาตรการการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และการแก้ไขกฎหมายบางส่วนที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลที่จะได้รับที่นอกเหนือจากการที่ญี่ปุ่นจะลงทุนและใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเกิดการลงทุนต่อไปยังเพื่อนบ้านมากขึ้นแล้วนั้น ยังจะเกิดการร่วมลงทุนการซื้อขายวัตถุดิบและชิ้นส่วน การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Product) อาทิ ด้านยานยนต์ อาหารแปรรูป ทั้งยังจะเป็นหนทางไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในสาขาใหม่ๆ ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อีกด้วย" นายอุตตม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ