(เพิ่มเติม) TMB ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็นโต 3.5% จาก 3.3% จากมองส่งออกโต 5.8% จากเดิม 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 7, 2017 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารทหารไทย (TMB) ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.3% หลังได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดี โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 5.8% สูงกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2%

ส่วน GDP ในปี 61 คาดว่าจะขยายตัว 3.8% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวด้านการส่งออกที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาคเอกชนรายใหญ่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และคาดว่าปีหน้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 2% จากปัจจุบันยังตรึงไว้ที่ 1.50% หลังภาวะเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะที่ประเมินว่าค่าเงินบาทในปีหน้าจะแข็งค่ามาที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจัยหนุนคือเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า การที่เศรษฐกิจไทยในปี 61 จะเติบโตถึงระดับ 4% มีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคในด้านโครงสร้างที่ต้องพึ่งพาภาคการส่งออกและภาคธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งมองว่าเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว เนื่องจากการกระจายรายได้ไม่สามารถกระจายได้ไปตามภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาดี และส่งผลกระทบในแง่การทำธุรกิจของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในด้านการชะงักงันของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม หากเศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัวขึ้นอีกครั้ง

"คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 61 จะขยายตัวได้ 3.8% จากการเติบโตของภาคการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 4.8% เป็นไปตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับยังได้แรงหนุนของการลงทุนจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 3.8% สูงขึ้นกว่าปีนี้ที่เติบโต 1.6% เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มีความพร้อมในด้านเงินทุนที่มากกว่าบริษัทขนาดเล็กและกลาง อีกทั้งการส่งเสริมโครงการต่างๆ ของภาครัฐยังเอื้อต่อการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายส่งเสริมการลงทุน BOI เป็นต้น" นายนริศระบุ

ส่วนแนวโน้มเงินบาทในปี 61 คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากสิ้นปีนี้ที่ 33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และในระหว่างปี 61 คาดว่าจะค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นไปแตะที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มของเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง และปัจจัยหนุนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง ขณะที่แนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 61 คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีนี้ที่คาดว่าจะเกินดุลอยู่ที่ 1.1 แสนล้านดอลาร์สหรัฐฯ

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 61 คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น 2% เพราะเศรษฐกิจไทยโดยรวมเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และมีโอกาสค่อนข้างมากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 61 อีกราว 2 ครั้ง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ส่งผลให้ กนง.จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 61 ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด ส่วนในปีนี้ยังคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5%

ส่วนคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปี 61 มีแนวโน้มจะทยอยลดลง เนื่องจากคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการแก้ปัญหาหนี้ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ และการขายหนี้ เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่า NPL ที่สามารถแก้ปัญหาได้ในปี 61 อยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะแก้ปัญหาได้มูลค่า 7.29 หมื่นล้านบาท ประกอบกับแนวโน้มของการเกิดหนี้เสียใหม่ในปี 61 คาดว่าลดลงมาอยู่ที่ 7.11 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 8.53 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.26 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น NPL ที่เกิดจากลูกค้าในกลุ่ม SMEs และรายย่อยรวมกันในสัดส่วน 80% หรือคิดเป็นมูลค่า NPL รวมกว่า 3 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 20% เป็น NPL ที่มาจากลุกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยแนวโน้มของ NPL คาดว่าจะเริ่มเห็นการปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3/60 ที่เป็นช่วงที่ NPL ขึ้นสู่ระดับสุงสุดที่ 3% เพราะมองแนวโน้มตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไปเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้นและส่งผลให้ภาคธุรกิจและการค้าต่างๆ ค่อยฟื้นตัวกลับมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ