กรมเชื้อเพลิงฯ เล็งเดินสายชวนผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 2, 2017 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯ เตรียมเดินสายหารือกับผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเลียมของไทย อย่างเช่น บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และ บริษัท พลังโสภณ จำกัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นถึงข้อเสนอในการจะเข้าร่วมประมูลสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช และเอราวัณที่กำลังจะหมดอายุในปี 65-66 เพื่อจะนำมาประกอบกับการจัดทำเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) หลังจากสัปดาห์ที่แล้วได้เดินสายหารือกับผู้ประกอบการปิโตรเลียมในญี่ปุ่นมาแล้ว

"เราก็จะไปหารือว่าเขามีข้อเสนอการเปิดประมูลอะไรบ้าง ทั้งบางจากฯ พลังโสภณ และบริษัทคนไทย เพื่อนำมาเขียนใน TOR ซึ่งเขาประมูลเองคงยาก แต่เข้ามากับพันธมิตรก็น่าจะได้"นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ มั่นใจว่าการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชจะมีผู้ยื่นเสนอมากกว่า 2 รายนอกเหนือจาก บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และกลุ่มเชฟรอน ซึ่งได้รับสัมปทานในปัจจุบัน หลังจากออกไปเดินสายที่ญี่ปุ่นพบว่าทางบริษัท Mitsui Oil Exploration จำกัด ให้ความสนใจที่จะยื่นประมูลเช่นกัน ขณะที่อบูดาบีก็มีความสนใจที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านปิโตรเลียมด้วย

ในช่วงนี้กรมเชื้อเพลิงจะเดินสายเพื่อหารือกับผู้ประกอบการปิโตรเลียม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเตรียมการจัดทำ TOR ให้มีความเหมาะสมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ซึ่งคาดว่าการจัดทำ TOR ที่ผ่านความเห็นของคณะกรรมการปิโตรเลียมจะแล้วเสร็จในกลางเดือน ต.ค. หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อ รมว.พลังงาน ก่อนจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

การจัดทำ TOR จะดำเนินการขนานกันไปกับการออกประกาศประมูลปิโตรเลียมในรูปแบบระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีเพียงระบบสัมปทานเพียงอย่างเดียว โดยรายละเอียดของ PSC อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.และออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อกระบวนการทั้ง 2 เสร็จ ก็จะออกประกาศ TOR หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นั้น ล่าสุดก็จะมีการจัดหาเพิ่มเติมจากแหล่งโมซัมบิก ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของ บมจ.ปตท. (PTT) ได้เห็นชอบสัญญาที่จะซื้อ LNG จากแหล่งดังกล่าว ตามสัญญาระยะยาว ประมาณ 2.6 ล้านตัน/ปี เพื่อนำเข้าในปี 66 แต่ยังไม่ได้ส่งเรื่องมายังกระทรวงพลังงาน ซึ่งเมื่อส่งเรื่องมาก็จะพิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ปตท.เสนอเรื่องเข้ามา ก็อาจจะเสนอกลับไปให้ ปตท.พิจารณาการทำสัญญาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยหากไม่สามารถใช้ในประเทศได้ทั้งหมด ก็ให้สามารถขายออกไปในรูปแบบของ Trading ได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ทั้งการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ส่วนแนวโน้มการใช้ LNG ในระยะยาวของประเทศนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่ในระดับใด จากแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติระยะยาวจะมีความต้องการใช้ LNG ราว 32 ล้านตันในปี 79 เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 58-79 (PDP2015) ใหม่ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าอาจจะลดลงจากแผนเดิม ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยก็จะลดลงด้วยเช่นกัน

อนึ่ง ความคืบหน้าการจัดทำแผน PDP ใหม่คาดว่าจะมีการนำเสนอกรอบแผน PDP ต่อที่ประชุม กพช.ในวันที่ 18 ต.ค.นี้ แต่รายละเอียดและแผนทั้งหมดจะแล้วเสร็จในต้นปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ