ธปท.มองแนวโน้มค่าเงินยังผันผวน ย้ำนโยบายดอกเบี้ยต้องคำนึงถึงเสถียรภาพศก.ระยะยาว-ผลข้างเคียงต่อการออม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 2, 2017 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้พิจารณาจากตัวเลขและเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ จึงทำให้มีการปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2560 เพิ่มเป็น 3.8% จากเดิม 3.5% และปี 2561 ปรับเพิ่มเป็น 3.8% จากเดิม 3.7% เพื่อสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเป็นการขยายตัวที่กระจายหมวดสินค้า มีตลาดที่หลากหลาย และบริษัทส่งออกหลายรายไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะรายใหญ่ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังขยายตัวในระดับดีมาก ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนก็มีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจน

สำหรับปัจจัยเรื่องเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากปัจจัยที่เงินดอลลาร์สหรัฐปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินรวมถึงเงินบาท โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากมุมมองของตลาดเงินตลาดทุนต่อค่าเงินดอลลาร์ แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (เฟด) ที่มีการปรับลดงบดุลและคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกภายในปีนี้ รวมทั้งความชัดเจนในเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ต้องอ่อนลง

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า มาจากสาเหตุที่ไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัว และภาคบริการที่ขยายตัว ทำให้มีเงินจากต่างประเทศเข้ามามากกว่าที่ใช้จ่ายออกไป จึงเป็นปัจจัยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

"ในระยะต่อไปค่าเงินจะยังคงมีความผันผวน โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง โดยเฉพาะกรณีพิพาทในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมในการทำประกันความเสี่ยง ลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินที่อาจเกิดขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

นายวิรไท กล่าวว่า การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการดำเนินนโยบายการเงิน จะต้องมองในมิติสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค จะเป็นการทำให้อัตราเงินเฟ้อให้เร่งตัวสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว 2.ต้องทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพ และ 3.ต้องดูแลให้เกิดเสถียรภาพในด้านการเงิน ซึ่งการทำนโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานอาจเกิดผลข้างเคียงในหลายมิติ เช่น ภาคการออมลดลง ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดการออมมากขึ้น รวมทั้งเกิดพฤติกรรมการแสวงหาผลกำไรที่มีความเสี่ยงเกินควร นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องคำนึงถึงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักด้วย เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

ส่วนปัจจัยเรื่องเงินทุนไหลเข้าในช่วงที่ผ่านมานั้น จะต้องพิจารณาในแต่ละช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ จะพิจารณาทั้งความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งบางช่วงนักลงทุนก็ไม่ต้องการความเสี่ยง และเลือกลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่เงินทุนที่ไหลเข้าไทยในช่วงที่ผ่านมามีสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างไรก็ดี ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้มาตรการดูแลหากมีความจำเป็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ