ครม.เห็นชอบพัฒนาระบบ Doing Business Portal เพื่ออำนวยความสะดวก-ยกระดับบริการ เข้าสู่ยุค 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 10, 2017 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ซึ่งขอรับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 4 พันล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยมอบหมายให้สำนักงานรับบาลอิเล้กทรอนิกส์ หรือ สรอ. (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลัง และสำนักงาน ก.พ.ร.

"เป็นการปฏิรูปกระบวนการอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชน เพราะในอดีตการขออนุญาตเปิดร้านต้องขอใบอนุญาต 6 ใบ กรอกเอกสาร 310 ช่อง ต้องทำเอกสาร 98 ชุด ต้องใช้เงินเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ขณะนี้มาที่ Business Portal ของเราที่เดียวสามารถกรอก อัพโหลดข้อมูลต่างๆ สามารถกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ" นายกอบศักดิ์ กล่าว

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร., สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), ธนาคารโลก และกระทรวงการคลัง ในการจัดทำข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทางธนาคารโลกมาเป็นให้ข้อเสนอแนะในการยกระดับการให้บริการด้วยระบบดิจิทัลให้เข้ากับยุค 4.0 ตามเกณฑ์ประเมินของธนาคารโลก

ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการใน 4 หมวด ได้แก่ 1.License Digitization & Analytics พัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อขออนุมัติอนุญาตทุกประเภทออนไลน์ โดยปีงบ 61 จะนำร่อง 50 บริการ/ใบอนุญาต และขยายเป็น 100 บริการ/ใบอนุญาต ในปีงบ 62 และ 150 บริการ/ใบอนุญาต ในปีงบ 62 2.Digital Authentication ระบบยืนยันตัวตนแบบออนไลน์ นำร่องให้บริการร่วมกีกับสถาบันการเงิน 3.Trade Digitization ระบบกลางเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ 4.Digitization Commando บุกสำรวจและเชื่อมโยงระบบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ให้ครอบคลุม 300 บริการ/ใบอนุญาต

ทั้งนี้จากการสำรวจของสำนักงาน ก.พ.ร.พบว่าประเทศไทยมีกระบวนการอนุญาตรวม 6,636 กระบวนการ มีคู่มือกว่า 682,000 คู่มือ หลังการปฏิรูปครั้งนี้จะเหลือเฉพาะคู่มือกลาง และจะคัดเลือกให้เหลือประมาณ 400 กระบวนการ ซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดอันดับของธนาคารโลก, มีความเกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย, มีการทำธุรกรรมมากกว่า 1.2 แสนครั้ง/ปี หลังจากนั้นจะคัดเลือกอีกครั้งให้เหลือราว 300 กระบวนการ ซึ่งจะสอดรับกับการปฏิรูปด้านกฎหมายที่จะพิจารณาตัดทอนขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจของประชาชน

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถใช้บริการขออนุญาต 21 บริการ ได้แก่ การจัดตั้งธุรกิจ, การขึ้นทะเบียนนายจ้าง, การขึ้นทะเบียนลูกจ้าง, การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม, การขอติดตั้งสาธารณูปโภค, การขออนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหาร, การขออนุญาตค้าปลีก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ