ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะไทยเร่งเพิ่มคุณภาพแรงงาน รองรับแผนนโยบายเศรษฐกิจญี่ปุ่นระลอกใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 25, 2017 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปอย่างไม่เป็นทางการของญี่ปุ่นเมื่อช่วงดึกของวันจันทร์ที่ 23 ต.ค. 2560 ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลผสมระหว่างพรรคเสรีประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (Liberal Democratic Party: LDP) กับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างพรรค Komeito น่าจะสามารถกลับมาครองเสียงข้างมากเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) ซึ่งมีจำนวนที่นั่งทั้งสิ้น 465 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิม 10 ที่นั่ง) ได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตาภายหลังจากการเลือกตั้งในครั้งนี้นั้น คงเป็นนโยบายต่างๆที่ทางพรรค LDP พยายามเร่งผลักดันในช่วงที่ผ่านมาให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเป็นที่แน่ชัดว่า พรรค LDP จะยังชูการเพิ่มขีดความสามารถทางการทหาร ผ่านแนวคิดการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น โดยจะให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับสถานภาพของกองกำลังป้องกันตนเองของประเทศ (SDF) เพื่อฟื้นฟูสถานะกองทัพและสิทธิในการทำสงครามของประเทศให้กลับคืนมา ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ประเด็น “ปัญหาภายนอก” ที่ทางการญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงของประเทศ ทั้งจากประเด็นความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์บนคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นระหว่างจีนและรัสเซียอันมีพรมแดนใกล้กับญี่ปุ่น จึงเป็นแนวนโยบายหลักที่ทำให้ประชาชนสนับสนุนการกลับมาของพรรค LDP

สำหรับนโยบายที่ทางพรรค LDP ของนายกรัฐมนตรีอาเบะยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ และนับประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คงเป็นเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าภายใต้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่นักธุรกิจภายในประเทศ รวมถึงประเทศคู่ค้าของญี่ปุ่นทั่วโลกให้ความสนใจว่าญี่ปุ่นจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของตนไปในทิศทางไหน ซึ่งเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นนับว่าประสบ “ปัญหาภายใน” ที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานและมีความท้าทายในการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ทั้งนี้ การยกเครื่องทีมบริหารเศรษฐกิจของญี่ปุ่นภายใต้คณะรัฐบาลอาเบะสมัยที่ 4 อย่างจริงจังจะเป็นเครื่องชี้ว่า ทิศทางของมาตรการเศรษฐกิจมหภาคในระยะข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ภายใต้ความท้าทายทางด้าน “เงินฝืด” ที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ดังสะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยและยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำหนดไว้ที่ 2.0% โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารสด (Core inflation ex fresh food) ในเดือน ส.ค. 2560 ขยายตัวเพียงแค่ 0.7% YoY แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะกลับมาขยายตัวได้ดีจน Output gap กลับมาเป็นบวกได้ 3 ไตรมาสติดต่อกัน หรืออัตราการว่างงานของญี่ปุ่นลดต่ำลงสู่ 2.8% ในเดือน ส.ค. 2560 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 23 ปีแล้วก็ตาม จนก่อให้เกิดคำถามถึงผลสัมฤทธิ์ของนโยบายการเงินของญี่ปุ่นซึ่งนับเป็นธนูดอกที่ 1 ภายใต้นโยบายธนู 3 ดอก (Abenomics) ที่ทำผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณและคุณภาพ (QQE) ว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยนี้ คุ้มค่ากับการเพิ่มขนาดงบดุลของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ดำเนินการมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมาหรือไม่

นอกจากปัญหา “เงินฝืด” แล้ว ความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังซึ่งนับเป็นธนูดอกที่ 2 ยังก่อให้เกิดความท้าทายทางด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะยาว โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 234.4% ในไตรมาสที่ 2/2560 และการขาดดุลงบประมาณของญี่ปุ่นต่อ GDP ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 5.7% ในปี 2559 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นระยะเวลานาน

อย่างไรก็ดี จากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ประกอบกับนโยบาย Abenomics ที่ยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสวนทางกับภาระทางการเงินและการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทิศทางนโยบายการเงินและการคลังภายใต้การบริหารของพรรค LDP จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจากการบริหารของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่อาจไม่ได้เพิ่มขนาดมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่อาจเกิดกับระบบเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า คาดว่าคงต้องพึ่งพาการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานในภาคการผลิตและภาคบริการของประเทศในระยะยาวของญี่ปุ่น และดูเหมือนจะเป็นทางออกอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการชูจุดยืนของญี่ปุ่นในการเป็นผู้นำด้าน “นวัตกรรม” ของโลกให้กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ภายหลังจากที่สถานะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอนจากการก้าวขึ้นมามีบทบาทในด้านนวัตกรรมของจีนและเกาหลีใต้ในช่วงที่ผ่านมา โดยคงต้องติดตามการสานต่อนโยบาย Society 5.0 ที่ทางการญี่ปุ่นได้เสนอในช่วงกลางปี 2559 ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตผ่านการเชื่อมโยงพื้นที่ทางกายภาพ (Physical space) กับพื้นที่โลกเสมือน (Cyber space) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง) อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรมการเงินสมัยใหม่ ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านสังคมหลายประการที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นกำแพงทางด้านทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่นที่ถูกจำกัดด้วยสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือแม้แต่โครงสร้างการจ้างงานของบริษัทญี่ปุ่นที่มีความยืดหยุ่นต่ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ภาคธุรกิจญี่ปุ่นมีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างต่ำและลดทอนความสามารถแข่งขันในตลาดโลก ดังนั้น ผลกระทบเชิงโครงสร้างอันเกิดการปฏิรูปภาคการผลิตของญี่ปุ่นก็คงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาในระยะยาว

นอกจากโจทย์การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว บริบทของการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นในระยะข้างหน้านับว่ามีความท้าทายมากกว่าช่วงที่นโยบาย Abenomics ออกมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยญี่ปุ่นไม่สามารถพึ่งพากระแสการเปิดเสรีทางการค้าในรูปแบบพหุภาคี (Multilateral trade agreement) ได้อีกต่อไป เนื่องจากบริบทของเศรษฐกิจโลกที่หันมาใช้การกีดกันทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ความพยายามของญี่ปุ่นในการบรรลุความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นอันต้องล้มเลิกไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ญี่ปุ่นจำต้องเน้นบทบาทเชิงรุกในการเจรจาความตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral trade agreement) มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการรักษาบทบาทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นให้ยังคงอยู่สืบไป ขณะที่ ญี่ปุ่นเองอาจต้องทำการทบทวนบทบาทของตนในการผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ว่าจะช่วยรักษาฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในภูมิภาคได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงการถ่วงดุลในด้านบทบาทมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคระหว่างญี่ปุ่นและจีนอย่างเหมาะสมในระยะข้างหน้า

ส่วนประเด็นทางด้านความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในระยะข้างหน้านั้น การกลับมาของนายกรัฐมนตรีอาเบะมีส่วนช่วยในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายต่างๆ ที่มีกับไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยให้สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เพื่อยกระดับการเชื่อมโยงทางด้านห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ตลอดจนการช่วยยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของญี่ปุ่นได้อีกทาง ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจำต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพให้แก่แรงงานภายในประเทศ ไม่ว่าจะผ่านนโยบายการศึกษา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตโดยเน้นใช้ทุนและเทคโนโลยีที่เข้มข้นขึ้น เพื่อคงความน่าดึงดูดของไทยในฐานะแหล่งลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ