(เพิ่มเติม) "อภิสิทธิ์"แนะรัฐบาลปรับแนวทางบริหารสู่ศก.และการเมืองใหม่ หากก้าวไม่พ้นส่อวิกฤติอีกรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 27, 2017 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี หัวข้อ"แนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนปี 2561: อนาคตประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย"ว่า คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 61 จะอยู่ที่ 4.1-4.7% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาที่ 1.0-1.5% การส่งออกอยู่ที่ 6-8%

"การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป"นายอนุสรณ์ ระบุ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะเป็นการเติบโตที่ยังกระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมหมวดอิเลคทรอนิกส์ อตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภภัณฑ์ เป็นต้น และการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่กระจายตัวทั่วถึง ขณะเดียวกันรายได้และผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายมายังกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กและประชาชนโดยทั่วไปมากนัก

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องการเมืองและเรื่องเศรษฐกิจไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แม้รัฐบาลจะมีการประกาศจัดการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.61 แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กระบวนการนำไปสู่การเลือกตั้งยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม และเริ่มเห็นความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจากปัญหาทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

โดยในภาพรวมเศรษฐกิจ แม้อัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 4% แต่ยังถือว่าเป็นอัตราต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน และประชาชนในชนบทยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น หรือแม้แต่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ในส่วนของทีมงานด้านเศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้

นายอภิสิทธิ์ มองว่า ปัจจัยและความท้าทายทางเศรษฐกิจจะมีส่วนกำหนดภาวะทางการเมืองในอนาคตด้วย ซึ่งปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของรายได้ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ และเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังอยู่ในภาวะถดถอย และความเลื่อมล้ำทางสังคมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้ง แต่ยังไม่ส่งผลให้เพิ่มกำลังซื้อ เพราะภาคเกษตรยังไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร จึงเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนแนวคิด โดยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนเป็นหลัก

พร้อมมองว่า ในช่วง 1 ปีข้างหน้า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับวิธีการทำงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อประคับประคองความรู้สึกของประชาชนไปให้ได้ และจำเป็นต้องอาศัยความมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อช่วยหาทางออกและช่วยกันกำหนดแนวทาวเศรษฐกิจและการเมืองใหม่ เพื่อให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้ เพราะหากไม่สามารถก้าวพ้นปัญหาเดิมได้ ก็อาจจะเกิดวิกฤติได้อีกในอนาคต

ด้านนายสุชาติ ธาดาดำรงเวช อดีต รมว.คลัง แนะนำว่าควรยกเลิกแนวคิดการบริหารประเทศโดยการกำหนดยุทธศาตร์ 20 ปี เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก การทำยุทธศาตร์ 20 ปี มีแต่ทำให้ประเทศล้าหลัง และควรใช้มาตรา 44 ให้น้อยที่สุด เพราะมองว่าการใช้อำนาจเผด็จการจะทำลายความเชื่อมั่นโดยตรง และควรยกเลิกการใช้อารมณ์ คำโฆษณา และการตลาดในการบริหารประเทศ

พร้อมทั้งได้แนะนำให้ดูแลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจให้เพียงพอ โดยใช้มาตรการ QE เพื่อให้มีสภาพคล่องในมือมากขึ้น ให้ค่าเงินบาทแข่งขันได้ ทำให้เพิ่มการส่งออก GDP และรายได้ต่อหัวเร็วขึ้น และให้มีการเก็บภาษีคนรวยช่วยคนจนโดยตรง ซึ่งวิธีการนี้ใช้ในหลายประเทศที่เจริญแล้ว เป็นการช่วยคนจนทุกคนโดยตรงอย่างเป็นระบบ แทนการอุดหนุนสินค้าและบริการ ซึ่งมองว่า นโยบายช็อปช่วยชาติ ส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ด้านนายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เรื่อง "แนวโน้มเศรษฐกิจ และทิศทางการลงทุน ปี 2561-2565 : ภายใต้ระบบทุนนิยมโลก" ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วง 5 ข้างหน้า จำเป็นต้องพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่กระจายไปในระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ผลประโยชน์ทั่วถึงในทุกจังหวัด เป็นการพัฒนาแบบกระจาย พร้อมกับพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะด้านทักษะทางภาษา เพื่อรองรับธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมองว่าการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศทดแทนรายได้จากการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ