กฟผ.พร้อมปรับตัวรับมือแข่งขันเอกชน เร่งเพิ่มความรวดเร็ว-ลดต้นทุน,มองโอกาสขยายงานผ่านการร่วมลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 18, 2018 08:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ผ่าวิกฤติปฏิรูปไฟฟ้า กฟผ.จะก้าวข้ามอย่างไร"เมื่อวานนี้ว่า กฟผ.จำเป็นต้องปรับตัวหลังจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง และหากในอนาคตกฟผ. ต้องออกไปแข่งขันบนกติกาเดียวกับภาคเอกชน โดยสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการเพิ่มความรวดเร็วองค์กร ลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ตามขณะนี้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของกฟผ. บางส่วนยังติดขัดพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ.กฟผ.) ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.เคยเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. กฟผ. เพื่อให้ลงทุนได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วเห็นว่าการลงทุนของกฟผ.สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบร่วมทุน โดยถือหุ้นต่ำกว่า 50% ดังนั้น หากต้องการให้โครงการเดินหน้ารวดเร็วขึ้น กฟผ. จำเป็นต้องร่วมทุน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการร่วมมือกับ บมจ.ปตท. (PTT) เป็นสิ่งที่น่าทำ เพื่อในอนาคตกฟผ.จะมีความคล่องตัว และต้นทุนต่ำลง

สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้ กฟผ. แยกระบบส่งออกจาก กฟผ.นั้น ส่วนตัวมองว่าระบบส่งและโรงไฟฟ้าควรอยู่รวมกัน เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ แต่หากจะให้แยกบัญชีระบบส่ง ก็เป็นเรื่องที่ทำได้

ด้านนายไกรสีห์ กรรณสูต อดีตผู้ว่าการ กฟผ. และอดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กฟผ.จำเป็นต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากในอนาคตจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่น้อยลง ส่งผลให้รายได้ในเรื่องของไฟฟ้าลดลงด้วย รวมทั้งจะเห็นว่านโยบายของภาครัฐต้องการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ขณะที่นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า คณะปฏิรูปฯเห็นว่า กฟผ.ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของ กฟผ.สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ โดยต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า แต่ต้องมีภาระในการสำรองไฟฟ้าและบริหารไฟฟ้า ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมองถึงการดำเนินการทั้งระบบ ทั้งการสร้างรายได้ การสร้างความมั่นคง และต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำแก่ประชาชน

สำหรับการดำเนินการของ กฟผ.และภาคเอกชน ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากำลังผลิตตามสัญญาของ กฟผ.มีน้อยกว่าเอกชน แต่สามารถทำรายได้เข้ารัฐได้สูงกว่า โดยกำลังผลิตตามสัญญาของ กฟผ. ณ เดือน ธ.ค.60 อยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตตามสัญญาของเอกชนจะมีประมาณ 2.59 หมื่นเมกะวัตต์ โดยในปี 59 กฟผ.นำเงินส่งรัฐ 2.06 หมื่นล้านบาท แต่เอกชนนำเงินส่งรัฐในรูปการเสียภาษีเพียง 4 พันล้านบาทเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ