(เพิ่มเติม)กกร. เสนอทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เหตุไม่สอดคล้องเศรษฐกิจที่แท้จริง-กระทบต้นทุน-เสี่ยงว่างงานเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 23, 2018 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เตรียมทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในวันนี้ เพื่อเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) ที่กำหนดไว้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้กระทบต้นทุนภาคเกษตร ภาคบริการ และ ผู้ประกอบการ SME และมีความเสี่ยงที่คนจะว่างงานเพิ่มขึ้น

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ กกร.จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางเมื่อวันที่ 17 ม.ค.61 ให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งนี้ กกร.ได้สอบถามความคิดเห็นจากประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ได้ปรับขึ้นเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดนำเสนอคณะกรรมการค่าจ้าง คิดเป็น 92% ของจังหวัดทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มจังหวัด 35 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง เช่น จ.ระยอง ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดระยอง มีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้เท่ากับอัตราเดิมในปี 60 ที่ 308 บาทต่อวัน แต่ประกาศอัตราค่าจ้าง ปี 61 ได้กำหนดให้ปรับขึ้นเป็น 330 บาทต่อวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยคาดว่าจะทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในภาคเกษตร, ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs โดยทั่วไป "วันนี้เราจะทำหนังสือถึงท่านนายฯ เพื่อขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง...เรามองว่าอัตราที่ปรับขึ้นดังกล่าวไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการจังหวัด เราไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เราขอให้การปรับขึ้นเป็นไปตามอัตราที่คณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัดได้นำเสนอ" ประธาน กกร.กล่าว ทั้งนี้ กกร.ได้รวบรวมความเห็นเพิ่มเติมจากสมาชิกในแต่ละจังหวัด ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะต่อผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 ดังนี้ 1. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ได้มีการดำเนินการแล้วเมื่อ 1 ม.ค.60 2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ กกร.เห็นว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด และไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรมการค่าจ้างจังหวัด อีกทั้งไม่เป็นไปตามการคำนวณดัชนีทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ซึ่งจะเป็นการเร่งให้มีการว่างงานสูงขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการจะนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานคน 4. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้งค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตาม และกระทบต่อประชาชนในที่สุด 5. กกร. สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การลอยตัวของค่าจ้างในที่สุด 6. ในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ กกร.มีความเป็นห่วงผลกระทบที่จะมีต่อภาคเกษตร ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs จึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 7. ภาครัฐควรดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยให้เอกชนที่มีความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วม ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยกตัวอย่างกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริง เช่น ใน จ.ระยอง ที่มีการเสนอปรับขึ้นสูงสุดที่ 22 บาทต่อวัน จากเดิม 308 บาทต่อวัน เป็น 330 บาทต่อวันนั้น มองว่าแม้จังหวัดระยองจะอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่นั่นยังเป็นเพียงโครงการในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง การปรับขึ้นในอัตราดังกล่าวจึงจะส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการรายย่อย จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางเสนอปรับขึ้นไปถึง 22 บาทต่อวัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอะไร "คนที่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำก็คือคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็ถือธุรกิจรายย่อย เรามองว่ามันสมควรแล้วหรือ แม้ระยองจะอยู่ใน EEC แต่นั่นก็ยังเป็นภาพในอนาคต ปัจจุบันยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร การปรับค่าจ้างใหม่นี้ เราตั้งข้อสังเกตว่าอยู่บนพื้นฐานอะไรที่ปรับขึ้นไปถึง 7%" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ ทั้งนี้ จ.ระยอง อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดไปที่ 330 บาทต่อวัน รวมทั้ง จ.ชลบุรี และ จ.ภูเก็ต ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ยกตัวอย่างการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน จ.ระนอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวในระดับสูง และมีแรงงานไทยอยู่เพียงไม่ถึง 10% นั้น อาจจะไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจท้องถิ่น เพราะจังหวัดระนองไม่ได้มีภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่กลับปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มอีกวันละ 10 บาท เป็น 310 บาทต่อวัน เช่นเดียวกับจังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพะเยา ที่มีจำนวนประชากรไม่มาก ไม่ได้มีภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคเกษตร แต่ก็ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็น 310 บาทต่อวันเช่นกัน "การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่นด้วย อยากเราให้รัฐบาลช่วยทบทวน การปรับขึ้นคงต้องขึ้นแน่ๆ แต่อย่าขึ้นแบบที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุน" นายพจน์ กล่าว นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ สนับสนุนมติของ กกร.ในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ควรจะเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด ซึ่งจากที่ได้ศึกษาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ พบว่าคณะกรรมการค่าจ้างกลางได้เสนอให้มีการปรับสูงเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดนำเสนอไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานในภาคการเกษตร ภาคบริการ และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้ ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลช่วยทบทวนมติของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ให้เป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดด้วย อนึ่ง ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ชุดที่ 19 ได้มีมติปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 โดยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 5-22 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.64-7.14% โดยแบ่งการปรับค่าจ้างเป็น 7 ระดับ คือ 1.ปรับขึ้นเป็น 308 บาท 3 จังหวัด 2.ปรับขึ้นเป็น 310 บาท 22 จังหวัด 3.ปรับขึ้นเป็น 315 บาท 21 จังหวัด 4.ปรับขึ้นเป็น 318 บาท 7 จังหวัด 5. ปรับขึ้นเป็น 320 บาท 14 จังหวัด 6. ปรับขึ้นเป็น 325 บาท 7 จังหวัด และ 7. ปรับขึ้นเป็น 330 บาท 3 จังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ