บอร์ด คปภ.เห็นชอบกำหนดค่าความเสี่ยงเงินลงทุนของธุรกิจประกันในไทยแลน์ฟิวเจอร์ฟันด์ที่ 8%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2018 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ให้ความเห็นชอบการกำหนดค่าความเสี่ยงที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสำหรับการลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ให้มีค่าเท่ากับ 8% ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง ระยะที่ 2 เสนอ

"จากการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ได้มีมติให้ความเห็นชอบการกำหนดค่าความเสี่ยงที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสำหรับการลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ให้มีค่าเท่ากับ 8% ตามมติที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง ระยะที่ 2 เสนอ โดยได้มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ติดตามความเสี่ยงของกองทุน TFF อย่างใกล้ชิด และพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของค่าความเสี่ยงที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสำหรับการลงทุนในกองทุน TFF ต่อไป"

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนของภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคต ช่วยแบ่งเบาภาระการคลังของประเทศในระยะยาว และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศผ่านกลไกของตลาดทุนได้ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาคัดเลือกโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนฯ

สำนักงาน คปภ. พิจารณาแล้วเห็นว่า กองทุน TFF จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนของธุรกิจประกันภัย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตและพัฒนาการของอุตสาหกรรมประกันภัยในระยะยาว อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มบทบาทให้ธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศผ่านการระดมทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ดังนั้น สำนักงาน คปภ.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนในกองทุนดังกล่าวสำหรับธุรกิจประกันภัย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสำนักงาน คปภ.

โดยเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.60 คณะทำงานดังกล่าวได้มีการประชุมหารือรายละเอียดลักษณะกองทุนรวม รวมถึงมีการให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดค่าความเสี่ยงสำหรับการลงทุนว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Thailand Future Fund เป็นทางเลือกที่ดีในการระดมทุนของภาครัฐเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจประกันภัย พร้อมให้ความสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดค่าความเสี่ยง (Risk Charge) ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่คู่สัญญาเป็นภาครัฐให้เหมาะสม โดยพิจารณาร่วมกับความมั่นคงทางการเงินของภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้รวบรวมข้อมูลเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง ระยะที่ 2 (RBC2) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดและเสนอกรอบนโยบายกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง รวมถึงเสนอแนะหลักเกณฑ์การกำกับความมั่นคงทางการเงินของบริษัท และเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการผลักดันในระดับนโยบายต่อไป โดยคณะอนุกรรมการ RBC2 ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดค่าความเสี่ยงสำหรับการลงทุนใน TFF เมื่อวันที่ 25 ม.ค.61

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า คณะอนุกรรมการ RBC2 ได้มีความเห็นต่อกองทุน TFF ว่าเป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเป็นเครื่องมือของภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ผ่านการระดมทุน จากภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจประกันภัยที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มหนึ่ง โดยมีการถ่ายโอนรายได้ (Revenue Transfer Agreement: RTA) ค่าผ่านทางจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ให้แก่กองทุน จึงทำให้กองทุน มีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้มีความผันผวนต่ำ และมีโอกาสที่ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้น จากการปรับอัตราค่าผ่านทางได้ทุก 5 ปี นอกจากนี้ จะนำเงินจากการระดมทุนไปก่อสร้างส่วนต่อขยายอีก 2 เส้นทาง เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนที่มีแหล่งที่มาของรายได้ที่ชัดเจน มีความสม่ำเสมอของรายได้ ประกอบกับมีลักษณะที่แตกต่างจากกองทุนอื่น กล่าวคือผลตอบแทนจะได้จากรายได้ของกองทุน มิใช่จากผลกำไรของกองทุน ซึ่งส่งผลให้โอกาสในการสูญเสียเงินต้นมีจำกัด นอกจากนี้ยังเป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ น่าจะส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของกองทุนสูงกว่าตราสารของภาคเอกชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ