(เพิ่มเติม) รฟท.คาดออกประกาศเชิญชวนร่วมประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มี.ค.สรุปผลราว ส.ค.-ก.ย. 61

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 2, 2018 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า รฟท.จะประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบ PPP ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการกว่า 2 แสนล้านบาทในช่วงเดือน มี.ค.นี้ โดยมีเวลาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งเป็นระยะก่อสร้าง 5 ปี และบริหารการเดินรถ 45 ปี รวมทั้งจะให้สิทธิเข้าพัฒนาที่ดิน 2 แปลง ได้แก่ บริเวณมักกะสัน 145 ไร่ และศรีราชาไม่เกิน 30 ไร่ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลในเดือน ส.ค.-ก.ย.61 และคาดจะเซ็นสัญญาได้ภายในปลายปี 61

"ระหว่างนี้ รฟท.กำลังจัดทำร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประกวดราคา (TOR) ขณะเดียวกันก็ได้นำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) แล้ว และอยู่ขั้นตอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาก่อนนำเข้า กนศ.อีกครั้ง และ กนศ.จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประมาณกลางเดือนมี.ค.จากนั้นจะประกาศเชิญชวนได้ทันที" นายอานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ได้ปรับเป็นโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะมีเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่แอร์พอร์ตลิ้งเดินรถในปัจจุบัน ช่วงมักกะสัน- สนามบินสุวรรณภูมิ และมีส่วนต่อขยายไปสนามบินดอนเมือง และส่วนต่อขยายจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินอู่ตะเภา แม้ว่าจะมีการปรับรูปแบบการลงทุนแต่ผลตอบแทนที่ รฟท.จะได้เหมือนเดิม คือประมาณกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนจะต้องดำเนินการทั้งโครงการ ได้แก่ งานก่อสร้างโยธา งานเดินรถ บริหารที่ดินเชิงพาณิชย์

การประกาศเชิญชวนเป็นลักษณะ International Bidding เพราะต้องการเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วม เพราะบริษัทไทยยังไม่มีประสบการณ์การเดินรถไฟความเร็วสูง แต่ก็สามารถร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทต่างชาติ ได้ โดยกำลังพิจารณาว่าอาจจะเปิดให้ต่างชาติถือมากกว่า 50% หรือ อาจจะเป็นสัดส่วน 50/50

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีก่อนที่เอกชนจะเข้ามาเดินรถจะส่งมอบโครงสร้างแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ระหว่างนี้แอร์พอร์ต เรล ลิงก์จะปรับปรุงรถโดยสารมาติดตั้งเก้าอี้ หรืออาจเพิ่มรถอีก 1-2 ขบวนรองรับการเดินทางไปก่อน ส่วนผู้บริหารและพนักงงานของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ภายใต้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ก็จะโอนมาบริษัทย่อยของรฟท.ที่จะเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต แทน

ด้านโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และทางสายใหม่ รวม 9 เส้นทาง มูลค่าราว 4.3 แสนล้านบาท ขณะนี้ รฟท.ได้ส่งเรื่องให้กับกระทรวงคมนาคมบางส่วนแล้ว คาดว่าจะทยอยนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ มี.ค.61 เป็นต้นไปจนครบทุกเส้นทางภายในปีนี้ โดยเส้นทางแรกที่เป็นช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี และ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ส่วนเส้นทางใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ขณะนี้ได้ผ่านการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้ว

อนึ่ง โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง และทางสายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. มูลค่าโครงการ 8,120.12 ล้านบาท, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม., มูลค่า 24,294.36 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 324 ล้านบาท มูลค่า 57,375.43 ล้านบาท, ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. มูลค่า 62,883.55 ล้านบาท, ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. มูลค่า 37,527.10 ล้านบาท, ขอนแก่น- หนองคาย ระยะทาง 174 กม. มูลค่า 26,663.36 ล้านบาท , เด่นชัย- เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. มูลค่า 56,837.78 ล้านบาท ส่วนเส้นทางใหม่ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. มูลค่า 86,345 ล้านบาท และ บ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่า 67,965.33 ล้านบาท รวมระยะทาง 2,174 กม. มูลค่าโครงการ 427,012.03 ล้านบาท

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท.ว่า ตามแผนฟื้นฟู รฟท.จะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) พลิกกลับมาเป็นบวกในปี 63 โดยจะมีรายได้หลักมาจากการบริหารสินทรัพย์ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ นอกจากนี้ รฟท.จะมีเส้นทางเดินรถเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง โดยเส้นทางใหม่เส้นทางแรก คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต

นายไพรินทร์ คาดว่าในปี 63 จะมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์หลักพันล้านบาท และยังมีอีกหลายแปลงที่อายุสัญญาจะหมดลงในปี 63 ขณะเดียวกันรายได้จากการเดินรถก็จะค่อยๆเติบโต และจะกลายเป็นรายได้หลักของรฟท.

นายอานนท์ กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ รฟท. ปัจจุบันที่เป็นบริษัทแม่ , บริษัทย่อยสำหรับบริหารสินทรัพย์ และ บริษัทย่อยสำหรับเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา ส่วนโครงการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ของรฟท. ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP แล้วที่มีข้อเสนอให้ รฟท.พิจารณาเอกชนรายเดียวลงทุนในพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดของรฟท. แต่รฟท.กลับเห็นว่าควรให้แยกพื้นที่ให้เอกชนบริหารเพราะมองว่าการบริหารจัดการทั้งหมดจะต้องใช้เงินลงทุนสูงระดับหมื่นล้านบาทจะเป็นการจำกัดจำนวนนักลงทุน รฟท.จึงต้องการกระจายให้หลายบริษัทเข้ามาบริหาร โดยจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เพื่อยืนยันความเห็นดังกล่าว

ขณะเดียวกันในปีนี้ รฟท.ขอยกเลิกมติ ครม.เมื่อ 28 ก.ค.41 ที่ทำให้ไม่ให้เพิ่มอัตรากำลังคนได้ โดยจะนำเสนอขอเพิ่มบุคคลากรเพื่อรองรับกับหน่วยธุรกิจใหม่ทั้งการเดินรถเพิ่มเติมและการบริหารสินทรัพย์ โดยคาดว่าเมื่อโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกแล้วเสร็จจะเปิดเดินรถในปี 64 จะเพิ่มจำนวนบุคคลาการเป็น 1.6 หมื่นคน และหากโครงการรถไฟทางคู่เฟสสองแล้วเสร็จจะขอเพิ่มบุคคลากรเป็น 1.9 หมื่นคน จากปัจจุบันมีพนักงาน 1.4 หมื่นคน

ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท.ในช่วง 10 ปี (ปี 60-70) โดยในปี 63 จะมี EBITDA พลิกกับมาเป็นบวก 1,637 ล้านบาท จากปี 62 ที่ EBITDA ติดลบ โดยจะมาจากการเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ โดยมีค่าแรกเข้า 10 บาท บวกค่าโดยสารเพิ่ม 50% ตามระยะทาง โดยค่าโดยสารใหม่ชั้น 3 ระยะทาง 0-100 กม.เท่ากับ 0.323 บาท/กม.จะทำให้รายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 30% จากที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารตั้งแต่ปี 28

ส่วนภาระหนี้สิน ณ วันที่ 30 ก.ย.60 เท่ากับ 1.2 แสนล้านบาท (ไม่รวมหนี้ของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่มีประมาณ กว่า 3 หมื่นล้านบาท)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ