กบง. เห็นชอบออกเกณฑ์การออกแบบอาคารสร้างใหม่หรือดัดแปลง เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 8, 2018 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เป็นประธานเห็นชอบการออก "กฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ....." หรือเรียกว่า "เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานในอาคาร Building Energy Code" ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เสนอ

โดยจะกำหนดให้อาคารสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ สำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล ศูนย์การค้า โรงมหรสพ สถานบริการ อาคารชุมนุมคน อาคารชุด และสถานศึกษา ที่มีขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งระบบกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ การบังคับใช้จะทยอยใช้กับอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อนและทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภทภายใน 3 ปี โดยแบ่งการบังคับใช้ตามกฎหมายดังนี้ ในปีที่ 1 บังคับใช้กับอาคารขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือเทียบได้กับอาคารออฟฟิศขนาด 10 ชั้นขึ้นไป ,ในปีที่ 2 บังคับใช้กับอาคารขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือเทียบได้กับศูนย์การค้า TOP ขนาดใหญ่ ,ในปีที่ 3 บังคับใช้กับอาคารขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือเทียบได้กับอาคารขนาด 5 ชั้นขึ้นไป

โดยคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานได้มากกว่า 10% เมื่อเทียบกับอาคารทั่วไป และมีเป้าหมายภายใน 20 ปี สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 48,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานจะนำกฎกระทรวงดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 7 มี.ค. 2561 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา 1 เดือน หากผ่านการพิจารณาจะมีผลบังคับใช้หลัง 120 วันนับจากวันออกประกาศต่อไป

ส่วนเรื่องการมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแลค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อรายงาน ที่ประชุม กบง.เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่ กกพ. จะต้องกำกับดูแลในเรื่องค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ เนื่องจากเห็นว่า กิจกรรมขนส่งน้ำมันทางท่อมีในการควบคุมอัตราค่าบริการให้มีความเหมาะสม และมีการแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันด้วยวิธีการอื่นๆ อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

รวมทั้งในขณะนี้มีการกำกับดูแลธุรกิจการขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยการขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงาน ประกอบกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 สามารถกำกับการใช้อำนาจเหนือตลาดได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ให้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าอีกครั้ง ก่อนนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. รับทราบ รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 (PDP 2015) ไตรมาสที่ 3 ถึง ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการจัดรับฟังความเห็นค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ (Load Forecast) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมทั้งตั้งสมมุติฐานใน 3 ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ต้นทุนลดต่ำลง (Disruptive Technology) การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (Solar Roof Top) และยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะต้องนำมาตั้งสมมุติฐานในการจัดทำแผน PDP เพิ่มเติม

โดย PDP ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะแยกการศึกษาเชิงลึก ถึงการใช้และผลิตไฟฟ้าเป็นรายภาค รวมไปจนถึงการศึกษาเพื่อกำหนดประเภทเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ