(เพิ่มเติม) ธปท.คาดสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 61 ขยายตัว 6-8% จาก 4.4%ปีก่อน, NPL ทรงตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 12, 2018 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 61 จะขยายตัวได้ 6-8% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมองว่าจะเป็นการขยายตัวจากสินเชื่อในส่วนของภาคอุตสาหกรรม, พาณิชย์ โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ในขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 60 ที่ขยายตัว 4.4% นั้นถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ดี เนื่องจากมีอัตราการเติบโตสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) นอกจากนี้สินเชื่อยังเติบโตจากทุกภาคส่วน ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อเริ่มดีขึ้น

ในปี 60 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์เร่งขึ้นในช่วงปลายปีทั้งสินเชื่อธุรกิจจากพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภคจากพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ ส่งผลให้ภาพรวมการระดมทุนผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.4% มาอยู่ที่ 4.7%

สินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาริชย์ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิลดลงจากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงและเตรียมความพร้อมรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้

"จากที่เราได้สำรวจความเห็นของธนาคารพาณิชย์ ก็คาดว่าปีนี้สินเชื่อในระบบจะโตได้ต่อเนื่องจากปีก่อน มาอยู่ที่ 6-8% โดยเติบโตจากสินเชื่อในส่วนของภาคอุตสาหกรรม, พาณิชย์ โดยเฉพาะการส่งออก และท่องเที่ยว" น.ส.ดารณี กล่าว

สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้ คาดว่าจะทรงตัวและมีโอกาสลดลงได้บ้างจากในปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.91% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีการเติบโตรวดเร็วอย่างเด่นชัด ขณะที่การบริหารจัดการ NPL ของภาคธุรกิจก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ง่ายนัก

"ปีนี้ NPL น่าจะทรงตัว และมีโอกาสจะลดลงได้บ้าง แต่คงไม่ได้ลดลงมากนัก เพราะเศรษฐกิจปีนี้ไม่ได้พุ่งกระฉูด มันต้องค่อยๆ ไปด้วยกัน อีกอย่าง การบริหารจัดการ NPL ของภาคธุรกิจก็ไม่ได้ง่าย" น.ส.ดารณีกล่าว

พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่าปัจจัยที่จะทำให้ NPL ในปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายน่าจะมาจากเหตุการณ์เฉพาะที่ไม่สามารถคาดเดาได้ หรือไม่สามารถรู้ล่วงหน้ามาก่อน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อ NPL ในปีนี้ได้ ขณะที่ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของปีนี้มีโอกาสลดลงจากปี 60 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.76% เนื่องจากมองว่ารายได้ดอกเบี้ยจ่ายไม่น่าจะปรับลดลงไปได้มากกว่านี้นัก

น.ส.ดารณี ยังประเมินว่ารายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 61 มีแนวโน้มที่จะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง ซึ่งหากจะพิจารณารายได้ของธนาคารพาณิชย์จะพบว่า 70% มาจากรายได้ดอกเบี้ย และอีก 30% มาจากรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งในส่วนของค่าธรรมเนียมการโอนมีสัดส่วนถึง 12% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด และในส่วนของค่าธรรมเนียมการโอนนี้เองที่ได้รับผลกระทบจากการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยจากข้อมูลจะเห็นว่าในช่วงต้นปี 60 สัดส่วนการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ต่อการโอนเงินรายย่อยทั้งหมด มีเพียงไม่ถึง 1% และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 15-16% ในไตรมาส 3/60 อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนนี้เองจึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ที่คาดว่ามีโอกาสจะปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนที่ลดลง

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ต่างพยายามลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อทดแทนรายได้ที่ลดลง เช่น การปิดสาขา, การควบรวมสาขาที่ใกล้เคียงเข้าไว้ด้วยกัน หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น Service Center โดยพบว่าในปี 60 ธนาคารพาณิชย์มีการปิดสาขาไปแล้วประมาณ 300 สาขา และเปิดใหม่ประมาณ 100 สาขา ซึ่งทำให้มียอดการเปิดสาขาใหม่สุทธิในปี 60 ที่ประมาณ 200 สาขา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ