SCB EIC คาดกนง.คงดอกเบี้ยตลอด H1/61 มองเงินบาทยังน่าห่วงแนวโน้มผันผวน อาจต้องมีมาตรการดูแลเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 14, 2018 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารแไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2561 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และการฟื้นตัวของกำลังซื้อที่ยังไม่ทั่วถึง จะทำให้ กนง.ไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีแรก

ด้านความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงต้นปี 2561 จากปัจจัยต่างประเทศ เช่น stock market correction ในสหรัฐฯ ที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงสั้นๆ อย่างไรก็ตาม มองว่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่ กนง. จะมีมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอาจเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

วันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนมากขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริการที่โตต่อเนื่อง ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อครัวเรือนมีการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน สำหรับการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจแม้ชะลอลงบ้าง สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตามยังคงเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านสินเชื่อ SMEs เริ่มปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจและหลายพื้นที่

กนง. ยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูงขึ้นชัดเจน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลัก นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ