ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้หลายปัจจัยบวกดันยอดส่งออก Q1/61 โตไม่ต่ำกว่า 10%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 22, 2018 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุการส่งออกสินค้าไทยในเดือน ม.ค.61 ขยายตัวสูงเกินคาดที่ 17.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ทั้งในแง่มูลค่าและอัตราการขยายตัว และเป็นการเร่งตัวขึ้นจากเดือน ธ.ค.60 ซึ่งมาจากหลายปัจจัยบวกปะปน ไม่ว่าจะเป็นโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญ รวมไปถึงวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงอยู่ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยบวกเหล่านี้จะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าไทยตลอดช่วงไตรมาสที่ 1/2561 ให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

"มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วงไตรมาสที่ 1/2561 คาดว่าจะยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยคาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้

1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังมีโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องจากปีก่อน สอดคล้องกับมุมมองของ IMF ที่ปรับขึ้นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศแกนหลักในปี 2561 อย่างสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยให้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จรูป

2.ระดับราคาน้ำมันดิบที่อยู่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนยังเป็นปัจจัยช่วยหนุนการส่งออกสินค้าที่ราคาเกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ให้ขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

3.การส่งมอบข้าวจากการซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) กับจีนในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.61 จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยช่วยหนุนการส่งออกสินค้าในช่วงไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ดี

4.แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ทั้งในส่วนของราคาข้าวและมันสำปะหลัง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยช่วยหนุนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2561 ยังมีประเด็นที่ยังต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทที่ต่อเนื่อง ประเด็นการต่ออายุ GSP การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารที่นำเข้าของหลายประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคายางพาราที่คาดว่าในปีนี้จะปรับตัวลดลงจากปี 2560 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกยางพารา

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขอรอติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยไปอีกสักระยะ และยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2561 ไว้ที่ 4.5% YoY" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ การที่ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค.61 ออกมาสูงกว่าที่คาด ซึ่งผิดแผกไปจากแบบแผนการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค.จะลดลงจากเดือน ธ.ค. ของปีก่อน แต่ในปี 2560/2561 การส่งออกสินค้าไทยในเดือน ม.ค.61 มีมูลค่าอยู่ที่ 20,101.4 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.60 ซึ่งอยู่ที่ 19,741.1 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ได้แก่

1.การส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญอย่างข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย ที่กลับมาขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในเดือน ม.ค.61 โดยในส่วนของการส่งออกข้าวที่เติบโตดีมาจากการส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคแอฟริกา อาทิ เบนิน แอฟริกาใต้ และแคเมอรูน รวมถึงฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นหลังประสบปัญหาอุปทานในประเทศไม่เพียงพอ ผนวกกับราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.61 ที่ผ่านมา สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ขยายตัวร้อยละ 42.3 YoY นั้นมาจากจีน (คู่ค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย) นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเพื่อรองรองรับการผลิตเอทานอลและแอลกอฮอล์ตามนโยบายการใช้พลังงานทดแทนในประเทศหลังสต๊อกข้าวโพดจีน ทยอยลดลงประกอบกับราคามันสำปะหลังปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การส่งออกน้ำตาลพลิกกลับมาขยายตัวดีจากอานิสงส์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นอย่างผันผวนของอินโดนีเซีย รวมไปถึงกัมพูชานำเข้าน้ำตาลเพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำตาลทรายโลกอยู่ในทิศทางขาลง

2.สินค้าส่งออกศักยภาพในปี 60 ยังเติบโตดี โดยการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่ขยายตัวดีต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 60 จากอานิสงส์การขยายตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศที่มีฐานการผลิตหรือมีการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย อาทิ ตลาดโอเชียเนีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

3.วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังส่งผลทำให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวสูงบนเลขสองหลักติดต่อกันนาน 10 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ