พาณิชย์ เร่งขยายการค้าตลาดเมืองรอง หลังบาทแข็งทำมูลค่าการค้าชายแดนหด-โดนจีนตัดราคาสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2018 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พ่อค้าจีนเร่งทำตลาดสินค้าตามชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแย่งส่วนแบ่งการค้าชายแดนของผู้ประกอบการไทย ด้วยการใช้กลยุทธ์ลดราคาขาย หลังจากพบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าไทยที่ขายในประเทศเพื่อนบ้านปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4-5% จากผลการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าเพียง 2.5-3% เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้สินค้าไทยถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปส่วนหนึ่ง โดยจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกของไทยไปประเทศเพื่อนบ้านในเดือนก.พ.61 อยู่ที่ 49,290 ล้านบาท ลดลง 11.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง 5,000 ล้านบาท ส่วนในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปีนี้ มีมูลค่า 102,639 ล้านบาท ลดลง 2.67%

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือนั้น นอกจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเร่งขยายการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนให้มากขึ้น โดยมีนโยบายมุ่งเจาะตลาดเมืองรอง ตามนโยบายของ รมว.พาณิชย์ เช่น แขวงจำปาสัก ของประเทศลาว ที่เป็นแขวงทางตอนใต้ มีการขยายตัวของธุรกิจด้านการก่อสร้าง ทั้งการสร้างถนน สร้างเขื่อน และท่องเที่ยว, เมืองกว่างนิงห์ ของประเทศเวียดนาม อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีระบบคมนาคมทางน้ำและทางบกที่สะดวก มีท่าเรือน้ำลึก มีชายแดนติดประเทศจีน และมีจุดผ่านแดนนานาชาติ 3 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีรัฐฉาน ของประเทศเมียนมา โดยจะเน้นการติดตามการผลักดันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้า และผลักดันเอกชนเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว, เมืองอลอสตาร์ รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ที่ติดกับจังหวัดสงขลาและยะลา มีโอกาสขยายการค้า และเมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 เป็นศูนย์กลางการค้าและมีนักธุรกิจชาวจีนอยู่เป็นจำนวนมาก

แหล่งข่าว กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ กรมการค้าต่างประเทศ จะเสนอแผนส่งเสริมและเป้าสำหรับมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในปี 61 ให้คณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานพิจารณา โดยกำหนดเป้าหมายการขยายตัวที่ 15% ที่มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ