กรอ.เผยแนวโน้มจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรพุ่งสะท้อนกำลังการผลิตเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 25, 2018 08:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เผยยอดจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 61 (ต.ค.60-ก.พ.61) มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ฯ เพิ่มขึ้นกว่า 23% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน โดยมีวงเงินจำนองประมาณ 56,500 ล้านบาท

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดี กรอ.เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบ 61 มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 652 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 23% จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนที่ 527 ราย โดยมีจำนวนเครื่องจักร 4,537 เครื่อง เพิ่มขึ้นจาก 2,772 เครื่อง มูลค่าเครื่องจักรที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ 94,166 ล้านบาท และวงเงินจำนองเครื่องจักร 56,500 ล้านบาท

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ 184 ราย เครื่องจักร 894 เครื่อง, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 91 ราย เครื่องจักร 400 เครื่อง, อุตสาหกรรมการพิมพ์ 70 ราย เครื่อง 113 เครื่อง, อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 33 ราย เครื่องจักร 369 เครื่อง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากอโลหะอื่น 25 ราย เครื่องจักร 52 เครื่อง

"การปรับตัวที่ดีขึ้นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการขยายตัวของภาคการผลิตที่จะส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่สูงขึ้นในลำดับต่อไป" นายมงคล กล่าว

อธิบดี กรอ. กล่าวว่า ในปี 2561 กรอ.ยังคงดำเนินโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยกิจกรรมแปลงเครื่องจักรเป็นทุน และปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการประกอบกิจการ โดยยังมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการได้มีการใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง มีการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในด้านการตลาด ลดต้นทุนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่นำเครื่องจักรภายในโรงงานเข้ามาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำเอกสารการจดทะเบียนฯ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะได้รับสิทธิประโยชน์ 4 ด้าน คือ

1.สิทธิพิเศษเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงิน 18 แห่ง ผู้ประกอบการจะได้รับวงเงินกู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท สามารถกู้ได้สูงสุดถึง 90% ของใบสั่งซื้อเครื่องจักร โดยมีดอกเบี้ย 4% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา สามารถผ่อนได้นานได้ถึง 7 ปี และปลอดชำระการคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน

2.เงินทุนหมุนเวียน โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องนำเครื่องจักรเดิมมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินทุนไปหมุนเวียนในกิจการหรือซื้อเครื่องจักรใหม่ โดยเครื่องจักรที่ใช้เป็นหลักทรัพย์จะได้รับเงินในการปล่อยกู้ประมาณ 1 ล้านบาท/เครื่อง

3.ได้รับการยกเว้นภาษี ผู้ประกอบการจะได้ยกเว้นอากรขาเข้าของเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินทุนโดยไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง

4.สิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ การยื่นคำขอจดทะเบียนฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีความรวดเร็วภายใน 3 วัน จัดสัมมนาให้ความรู้ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรอ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ ว่าด้วยอนุญาตให้เอกชน (เติร์ดปาร์ตี้) เข้ามาช่วยตรวจสอบเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวพร้อมประกาศใช้ คาดว่าจะมีวงเงินจำนองเครื่องจักรเพิ่มเป็น 335.91 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 75% จากมูลค่าการจดทะเบียนเครื่องจักรในปัจจุบัน โดยยังคาดว่า ในปี 2561 จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรอีกไม่น้อยกว่า 1,500 ราย

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ รวมถึงข้อมูลต่างๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทร. 0 2202-4055 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ