พาณิชย์ ติวเข้มผู้ประกอบการที่ส่งออก DUI เตรียมความพร้อมในการขอรับรองระบบงาน ICP ก่อนกม.บังคับใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2018 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.61 กรมฯ เร่งเดินสายให้ความรู้การจัดทำระบบงานการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในองค์กรของไทย (Internal Compliance Program: ICP) ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง ปราจีนบุรี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายและเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า DUI ของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออก DUI เตรียมความพร้อมในการขอรับรองระบบงาน ICP ก่อนขออนุญาตส่งออก DUI แบบรายปีได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้าสูงสุด ก่อนร่างพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงจะมีผลบังคับใช้ในราวต้นปี 2562

ในเบื้องต้น ระบบงาน ICP ภายใต้ระบบ e-TCWMD (ระบบการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD แบบอิเล็กทรอนิกส์ของไทย) ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบหลักที่สำคัญและสอดคล้องกับสากลและนานาประเทศคู่ค้า ดังนี้ (1) Commitment Management : การให้คำมั่นสัญญาจากผู้บริหารสูงสุดของบริษัทว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับการแพร่ขยาย WMD (2) Trade Screening : กระบวนการตรวจสอบสินค้า ลูกค้า และการใช้สุดท้ายว่าปลอดภัยและไม่เกี่ยวข้องกับ WMD (3) Training : การจัดฝึกอบรมพนักงานภายในองค์กรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการควบคุม DUI ตลอดจนแนวปฏิบัติต่างๆ (4) Record Keeping : การจัดเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง DUI ของบริษัท รวมถึงเอกสารการขาย เอกสารการขนส่งสินค้า หรือเอกสารเกี่ยวกับการฝึกอบรม เป็นต้น เพื่อรองรับการตรวจสอบภายหลัง (5) Auditing : การตรวจสอบภายในของบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าการควบคุมสินค้า DUI เป็นไปตามที่กำหนด รวมทั้งการกำหนดมาตรการรองรับข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และ (6) Penalties and Reporting : การกำหนดบทลงโทษกรณีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุม DUI

โดยระบบงาน ICP จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการตรวจสอบข้อมูล End-Use และ End-User ในการลดขั้นตอนการพิจารณาอนุญาต DUI ในองค์กร นอกจากนี้ยังสามารถช่วยบริษัทรับจ้างผลิต บริษัทขนส่ง SMEs และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความเสี่ยงของสินค้าก่อนดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว อีกทั้งช่วยป้องกันองค์กรไม่ให้เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การสัมมนาฯ ดังกล่าวมีผู้ประกอบการเข้าร่วมฯ ทั้งสิ้นประมาณ 850 ราย โดยส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฯ เช่น กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มโทรคมนาคม และกลุ่มเครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งร้อยละ 50 ของผู้เข้าร่วมฯ เป็นบริษัทลูกภายใต้บริษัทประเทศคู่ค้าที่มีระบบงาน ICP ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังเช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และแคนาดา เป็นต้น ซึ่งกรมฯ เชื่อมั่นว่าทุกบริษัทฯ จะสามารถปรับตัวให้ทันก่อนกฎหมายบังคับใช้ได้

ทั้งนี้ กรมฯ ได้สร้างความมั่นใจให้กับบริษัทที่เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ในการจัดทำระบบงาน ICP ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมฯ ได้มีแนวทางในการจัดทำโดยละเอียดและชัดเจน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายของไทยได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการ หน่วยงาน และผู้สนใจในเรื่องนี้ติดตามข่าวสารของกรมฯ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ