(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี-ค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการแบงก์พาณิชย์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 17, 2018 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ.... หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ รวมถึงค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกัน หรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กัน

นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรืออาคารชุดตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วย การขนส่งทางบก และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเครื่องจักรตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องจักรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย

"กระทรวงการคลังคาดว่าจะเสียรายได้จากส่วนนี้ราว 600-1,400 ล้านบาท แต่ก็จะชดเชยมาด้วยการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มเติมอีก อย่างน้อย 3,000-7,000 ล้านบาท/รายที่ได้ควบรวมกิจการระหว่างกัน" นายณัฐพร กล่าว

พร้อมระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ระดับภูมิภาค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินทุนเพียงพอที่จะไปแข่งขันได้ในระดบภูมิภาคอาเซียนได้ รวมทั้งมีการให้บริการที่ครอบคลุมและหลากหลาย ทั้งในเรื่องการให้บริการลูกค้ารายย่อย-ลูกค้ารายใหญ่ และบริการธุรกิจวาณิชธนกิจ

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว มีดังนี้

1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน

2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน

3. กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน

4. กำหนดให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการควบเข้ากัน หรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ให้แก่

  • ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้ว มีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 4 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 2 เท่า (100% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)
  • ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้ว มีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.75 เท่า (75% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)
  • ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้ว มีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.5 เท่า (50% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)
  • ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้ว มีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.25 เท่า (25% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)

ทั้งนี้ รายจ่ายที่สามารถนำไปหักรายจ่ายได้จะต้องเป็นรายจ่ายตามที่กำหนด และเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามความข้างต้น ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ควบเข้ากัน หรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนถึงวันที่ 31 ธ.ค.65 และต้องเป็นไปตามเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

"ธนาคารแห่งประเทศไทย มีข้อสังเกตว่ามาตรการนี้ ควรให้ครอบคลุมกรณีของธุรกิจสถาบันการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินด้วย และนอกจากนี้กรณีที่ควบเข้ากัน หรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติไม่เกิน 49% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ