นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุมคกก.เตรียมการไซเบอร์แห่งชาตินัดแรก ตั้งเป้าดันไทยติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกที่มีความพร้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 9, 2018 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ โดยมุ่งเน้นการรักษาพื้นฐานสารสนเทศ 6 ด้าน คือ 1.กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐที่สำคัญ (กำกับโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กระทรวงกลาโหม)

2.กลุ่มการเงิน (กำกับโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 3.กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม (กำกับโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4.กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์ (กำกับโดย กระทรวงคมนาคม) 5.กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (กำกับโดย กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย) 6.กลุ่มสาธารณสุข (กำกับโดย กระทรวงสาธารณสุข)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนเร่งด่วนขับเคลื่อนความเข้มแข็งของไซเบอร์ ซึ่งยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้กำหนดแผนงานเร่งด่วน 6 เดือน / 1 ปี และ 2 ปี ที่หน่วยงานจะต้องร่วมกันทำต่อไปใน 8 ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 คือ

1.การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ 2.การสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 3.การบูรณาการการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ 4.การประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 5.การสร้างความตระหนักและรอบรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 6.การพัฒนากฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 7.การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 8.การวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

นายพิเชฐ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบเห็นชอบแนวทางการผลิตบุคลากรด้านความมั่นคงไซเบอร์จำนวน 1,000 คน ครอบคลุมผู้เชี่ยวชาญระดับสูงถึงระดับปฏิบัติการ รวมทั้งรับทราบการที่ประเทศไทยจะเป็นที่ตั้งของศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมเป็นอย่างมาก โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมิ.ย.61 ซึ่งศูนย์นี้ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นทั้งงบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆ ทำให้สามารถฝึกอบรมแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"นับเป็นโอกาสสำคัญในการรับถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์จากประเทศชั้นนำด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งจะผนึกกำลังสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร อันจะส่งผลดีต่อการประเมินความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในเวทีสากล และทำให้ไทยก้าวขึ้นสู่ 20 อันดับต้นของโลกได้" รมว.ดิจิทัลฯ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ