ก.เกษตรฯ เปิดรับฟังความเห็นแก้ไขร่างพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ก่อนรวบรวมเสนอ ครม.พิจารณามิ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 17, 2018 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับใหม่) (ฉบับที่...) พ.ศ... ว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ฉบับใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์ในการรับฟังและร่วมกันเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสหกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสหกรณ์ ก่อนจะรวบรวมความเห็นส่งประกอบกับร่างกฎหมายเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 300 คน ประกอบด้วยผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 รวมทั้งตัวแทนสหกรณ์ในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัด กรมส่งเสริมสหกรณ์จะประชุมแบบ Video Conference ถ่ายทอดสดไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ โดยเชิญผู้บริหารสหกรณ์และตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ในแต่ละจังหวัดเข้าร่วมรับฟัง

"หลังจากรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นในครั้งนี้แล้ว จะรวบรวมความเห็นที่เป็นประโยชน์นำไปประกอบกับร่างกฎหมาย ก่อนจะเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดประโยชน์กับสหกรณ์ 10,000 กว่าแห่ง ที่มีสมาชิก 12 ล้านกว่าคน รวมมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท"นายวิวัฒน์ กล่าว

ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดประชุมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา และได้รวบรวมรายละเอียดก่อนจัดทำเป็นร่างกฎหมายเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการไปเป็นที่เรียบร้อย โดยที่ประชุม ครม.ได้ส่งมอบกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการบางส่วนในข้อกฎหมาย จึงมอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือแจ้งมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการยกร่างเพื่อแก้ไข จะส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความสะดวก และคล่องตัว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารกิจการสหกรณ์ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันในร่างกฎหมายยังมีการแก้ไขเรื่องของอำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ รวมไปถึงการอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งจากเดิมต้องเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ แต่ในกฎหมายฉบับใหม่จะมีการตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์มากขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ