ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไทยช่วง 8 เดือนที่เหลือยังโตต่อเนื่อง หนุนทั้งปี 61 โตได้ 8%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 22, 2018 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 8 เดือนที่เหลือ (พ.ค.-ธ.ค.) ปี 2561 จะยังรักษาอัตราการขยายตัวที่เป็นบวกต่อเนื่องจากช่วง 4 เดือนแรกได้ตามเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง รวมถึงระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบ, ข้าว และมันสำปะหลัง นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ และจีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่สงครามการค้า ก็น่าจะทำให้ภาพการค้าโลกมีความผันผวนลดลง

"ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ น่าจะช่วยหนุนภาพการส่งออกสินค้าของไทยตลอดทั้งปี 2561 ให้ขยายตัวได้ประมาณ 8.0% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะมีกำหนดการเผยแพร่ในช่วงเดือนมิ.ย.61" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนเม.ย.2561 จะยังขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่การนำเข้าที่เร่งขึ้น ก็ทำให้การค้าระหว่างประเทศของไทยพลิกกลับมาขาดดุลครั้งแรกในปี 2561 และนับเป็นมูลค่าขาดดุลสูงสุดในรอบ 43 เดือน โดยการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าสูงถึง 20,229 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัว 20.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดหมู่สินค้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1.การเร่งนำเข้ามาผลิตเพื่อเร่งส่งออกในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้า อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงในเดือนเม.ย.2561 ขยายตัวสูงถึง 60.7% 3.การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เติบโตสูงถึง 20.5% มาจากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข และโทรทัศน์ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ๆ ในไทยของผู้ผลิตแบรนด์ต่างๆ ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น น่าจะช่วยเสริมภาพการใช้จ่ายของครัวเรือนในสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทนที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2561

ในขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนเม.ย. 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 18,946 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวดีติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 ที่ 12.3% โดยหลักแล้วยังเป็นผลมาจากการขยายตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (28) จีน ญี่ปุ่น รวมถึงตลาดโอเชียเนีย ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยให้เติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าในเดือนเม.ย. 2561 ที่ขยายตัวในระดับสูงยังได้รับอานิสงส์มาจากปัจจัยบวกอื่นๆ ดังต่อไปนี้ 1.อานิสงส์จากความกังวลของผู้ผลิตต่อประเด็นความไม่แน่นอนในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ช่วยหนุนให้ผู้ผลิตจีนและสหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเสี่ยงจะถูกเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับ 80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล จากสถานการณ์ความขัดแย้งและความไม่สงบในตะวันออกกลาง ช่วยหนุนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมให้ขยายตัวสูงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก 3.ราคาข้าวและมันสำปะหลังในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ