(เพิ่มเติม) "ปิยสวัสดิ์"เตือน IRPCทบทวนแผนสร้างโรงไฟฟ้าเหตุใกล้แหล่งชุมชนมากเกินไป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 6, 2007 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน แนะนำ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ทบทวนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ.ระยอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนมากเกินไป อีกทั้งโรงกลั่นและธุรกิจปิโตรเคมีของ IRPC เองยังอยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและหน่วยผลิตปิโตรเคมีให้ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมตามที่ภาครัฐกำหนด
ทั้งนี้ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงของชาวบ้านใน จ.ระยอง ที่ไม่ต้องการให้ IRPC ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระทรวงพลังงงานได้สอบถามไปยังผู้ถือหุ้นใหญ่ของ IRPC แล้วทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และ บมจ.ปตท.(PTT) ถึงนโยบายการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รับคำตอบว่าขณะนี้ยังไม่มีมติโดยรวมของผู้ถือหุ้นถึงการตัดสินใจที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว แต่ยังเป็นแค่เพียงแนวคิดของระดับผู้บริหารเท่านั้น
รมว.พลังงาน ยืนยันว่า การประท้วงของชาวบ้านเพื่อต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในระยะนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) จำนวน 3,200 เมกะวัตต์ในรอบนี้ที่กำหนดให้ยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 19 ต.ต. เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ารวมกันแล้วประมาณ 150 โรง
การประมูล IPP รอบใหม่นี้ กระทรวงพลังงานจะยึดตามกฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่กำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งหากประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใดมีการร้องคัดค้านและโครงการไม่สามารถผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) กระทรวงพลังงานจะไม่พิจารณาให้พื้นที่นั้นๆ ก่อสร้างโรงไฟฟ้า
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การประมูล IPP รอบใหม่นี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงน่าจะชนะการประมูลทั้งหมด และอาจเป็นผู้ประกอบการรายเดิม เนื่องจากต่างมีความพร้อมและส่วนหนึ่งได้ผ่านการทำ EIA เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงพลังงานจะเริ่มจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ส่วนหนึ่งอาจจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตในแถบตะวันออกกลาง แต่ทั้งนี้ยอมรับว่าราคาก๊าซธรรมชาติ และ LNG จะปรับตัวสูงขึ้นจากที่ผู้ประกอบการรายปัจจุบันทำสัญญาไว้ เนื่องจากต้องเป็นการเจรจาในสัญญาใหม่
อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานจะเร่งผลักดันการใช้พลังงานทดแทน และการซื้อไฟฟ้าจากผู้ได้รับสัมปทานเขื่อนในประเทศลาว โดยคาดว่าจะได้ประมาณ 5 โครงการภายในปี 56 เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมีต้นทุนต่ำสุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ